dot dot
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
ภูมิพโลภิกขุ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ  สยามมกุฎราชกุมาร
dot
ประมวลภาพกิจกรรม
dot
bulletภาพ งานก่อสร้าง
bulletภาพ งานสร้างอาคาร
bulletสงเคราะห์โรงเรียน
bulletคนปลูกป่าพัฒนาอาราม
bulletอัลบั้มรวมภาพ
bulletทำเนียบวัด
bulletภาพเก่า เล่าใหม่
bulletภาพเก่า เล่าอดีต
bulletแปลนการก่อสร้าง
bulletวัดไทยเชตวันฯ ปี๒๕๕๕
bulletงานกฐินวัดบุพพาราม
bulletอาคาร “อนาถบิณฑิกเศรษฐี”
bulletงานกฐินพระราชทาน ปี 55
bulletงานกฐินพระราชทาน ปี 56
bulletทอดผ้ากฐินสามัคคี ๒๕๖๐
dot
พระสูตรที่ทรงสอนที่เชตวัน
dot
bulletโปฏฐปาทสูตร
bulletมหาปทานสูตร
bulletลักขณสูตร
bulletธชัคคสูตร


เฟสบุ๊ควัดไทยเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้พระพุทธเจ้า
วัดไทยลุมพินี ราชอาณาจักรเนปาล
วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย
พุทธวิหาร สาลวโนทยาน ๙๖๐ ชายแดนประเทศอินเดีย-เนปาล
ชีวิตและงานพระธรรมทูตไทยในอินเดีย ดร.พระมหาคมสรณ์
วัดไทยพุทธคยา พิหาร อินเดีย


ขยายงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สู่นครสาวัตถี article

งานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่พุทธภูมิ
ขยายงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สู่นครสาวัตถี

 

แนวคิดจุดเริ่มต้น

            การสร้างวัดไทยเชตวันมหาวิหาร เป็นงานต่อเนื่องในโครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่ถิ่นมาตุภูมิ ของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย และภายใต้การบังคับบัญชาของมหาเถรสมาคม
            นับเป็นการขยายงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในแดนพุทธภูมิให้กว้างไกลไพศาล โดยปกติจะมีชาวพุทธไทยจาริกไปแสวงบุญตามพุทธสถานสำคัญนับเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี พระธรรมทูตผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ให้มาปฏิบัติศาสนกิจแทนคณะสงฆ์ไทย ด้วยการเข้าไปเป็นภาระดูแล อำนวยความสะดวก นำบรรยาย สักการะไหว้พระสวดมนต์
            นครสาวัตถีแห่งนี้มีพุทธสถานที่สำคัญเคียงคู่กับแห่งอื่นๆ คือ วัดพระเชตวันมหาวิหาร ที่คงความสำคัญสืบทอดมาแต่โบราณ พระมหาเถระ ปราชญ์ผู้คงแก่เรียน ผู้เข้าถึงซึ้งในรสพระธรรม จะต้องมารับพรเป็นบทสรุปการเดินทางจาริกแสวงบุญที่นี่
            ในปริมณฑลจะมีวัดพุทธสายเถรวาทและมหายานนานาชาติมาสร้างไว้ดูแลศาสนิกของตนด้วยความห่วงใย แต่ในอาณาบริเวณนี้ยังขาดอาวาสของชาวพุทธไทยอยู่ที่นี่ จึงเกิดความลำบากเมื่อพระเถระนำญาติโยมมาถึง ทั้งนักศึกษาผู้มาไหว้พระ สวดมนต์ ต้องไปขอพักอาศัยที่อื่นๆ ดังนั้น สมควรอย่างยิ่งที่พุทธบริษัทชาวไทยของเราจะร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นที่นครสาวัตถีแห่งนี้

 

พระธรรมทูตไทยสู่แดนพุทธภูมิ

            ตามที่รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ร่วมเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในฐานะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ แล้ว ได้ตอบรับคำเชื้อเชิญจากรัฐบาลอินเดีย สมัย ฯพณฯ ศรีเยาวหราล เนรูห์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการถวายศาสนูปถัมภ์ให้คณะสงฆ์ไทยจัดส่งพระธรรมทูตไปประจำประเทศอินเดีย  เพื่อช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ซึ่งขณะนั้นเสื่อมทรุดสุดกำลัง ที่วัดไทยพุทธคยา (๒๕๐๒) หัวหน้าพระธรรมทูตทั้ง ๓ สมัยได้ทุ่มเทกำลังปฏิบัติศาสนกิจเต็มความสามารถ
            ครั้งสมัยพระสุเมธาธิบดี ดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพวิสุทธิโมลี ในฐานะหัวหน้าพระธรรมทูตสมัยที่ ๒ จึงตั้งโครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาสู่ถิ่นมาตุภูมิและโครงการค้นคว้าพุทธสถานทางวิชาการขึ้น เป็นผลให้งานเผยแผ่พุทธศาสนาขยายตัวเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น มีการสร้างวัดไทยเพิ่มตามมาหลายแห่ง ทั้งพุทธบริษัทชาวไทยก็มานมัสการสังเวชนียสถานมากขึ้นเป็นลำดับ นับว่างานพระธรรมทูตได้ปรากฏต่อสายตาของชาวโลกอย่างไพศาลและได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องและพัฒนาแบบยั่งยืน
 

 

ความสำคัญครั้งพุทธกาล

            ในครั้งพุทธกาล สมัยเมื่อพระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพได้เคยประทับและประกาศพระศาสนาในแคว้นโกศลนานถึง ๒๕ พรรษา ด้วยมีมหาราชาปเสนทิโกศล ผู้เป็นมหาอุบาสก เถลิงถวัลย์ราชสมบัติแห่งนครสาวัตถี อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้มากด้วยศรัทธา ได้สละทรัพย์มหาศาล สร้างพระเชตวันมหาวิหารถวายพระบรมศาสดา นับเป็นพระอารามหลวงที่สมบูรณ์และยิ่งใหญ่ ด้วยมีมหาสาวก มหาสาวิกา เหล่าอริยบุคคล อุบาสก อาสิกา สนองพุทธกิจ เผยแผ่พุทธธรรมให้ไพศาล โดยเฉพาะวิสาขามหาอุบาสิกา สตรีผู้สูงส่งด้วยเบญจกัลยาณี ถวายศาสนูปถัมภ์อย่างมั่นคง ในความสำคัญแห่งนี้ ในครั้งพุทธกาลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตร ทรงบัญญัติพระวินัยและประกาศพระอภิธรรม ผลปรากฏให้เห็นความเป็นปึกแผ่นของพระพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นจากที่นี่ พระพุทธองค์ทรงประทับในพระอารามเชตวันมหาวิหารนี้ถึง ๑๙ พรรษา นับว่านานที่สุดในพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา
 

พสกนิกรชาวไทยร่วมใจถวายพระพร

            ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี นับว่านานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด และในวโรกาสที่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา เสมอด้วยพระชนมายุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับว่าเป็นมหามงคล พสกนิกรใต้ร่มโพธิสมภารต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงมีสมานฉันท์ร่วมกัน ที่จะจัดสร้างอนุสรณ์สถานคือวัดไทยขึ้นในนครสาวัตถี อันเป็นพุทธภูมิที่เลือกสรรแล้ว่าเหมาะสมยิ่ง เพราะเคยเป็นที่ตั้งพระอารามอันเป็นรมณียสถานซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทับจำพรรษานานกว่าที่ใดๆ และจะได้เป็นวัดของชาวพุทธไทยทั้งชาติ ร่วมกันสร้างขึ้นถวายเป็นพระราชกุศล
            พระสร้างวัดถวายในหลวง ญาติโยมก็ร่วมด้วย ที่นี่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นานที่สุด เราเหล่าพสกนิกรในร่มโพธิสมภาร ในดวงใจทุกดวงล้วนปรารถนาเป็นหนึ่งเดียว ขออานิสงส์ผลบุญมหาศาล ถวายพระราชกุศลเจริญในพระชนม์ยิ่งยืนนาน นับว่าเป็นคำปรารภที่เป็นพลังให้พุทธบริษัทชาวไทยร่วมใจกันสร้างวัดไทยในพุทธภูมิแห่งนี้ น้อมถวายพระพรชัยมงคลขอให้พระองค์ทรงประทับอยู่กับเราเป็นมิ่งขวัญเนานาน

 

สังฆประชา สมานฉันท์

            ด้วยความสำคัญเช่นนี้ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร ประธานโครงการอบรมพระธรรมทูต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระธรรมทูตสายต่างประเทศ เห็นชอบและพร้อมใจกันจะจัดสร้างวัดไทยขึ้นในนครสาวัตถีดังกล่าว ให้เป็นรมณียศาสนสถาน งดงามด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สมบูรณ์ด้วยศิลปกรรมธรรมชาติและพุทธศิลป์ ผสมกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมทางศาสนา และวัฒนธรรม โดยมีพระเชตวันมหาวิหารและปุบผารามมหาวิหารเป็นหลัก เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็นวัดไทยแห่งเดียวในบริเวณนี้ ต่อไปจะเป็นที่พักศึกษาปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมวิปัสสนาของหมู่สงฆ์ อุบาสิกาชายไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น และเป็นอารามคือวัดไทยในพุทธภูมิที่สมบูรณ์แบบและสง่างามอีกแห่งหนึ่ง

 

ส่องศรัทธานำปัญญาสู่บุญถาวร

            การมาแสวงบุญตามจตุสังเวชนียสถานครบสี่ตำบลแล้ว ยังมีพระเชตวันมหาวิหาร พระอารามหลวงที่พระพุทธองค์ทรงประทับเนานานกว่าที่ใดๆ เป็นหนึ่งในอัฏฐมหาสถาน ผู้ใฝ่รู้ใฝ่ปฏิบัติในธรรมจะไม่ละเว้น เพราะความเป็นสัปปายะ อาณาบริเวณสงบร่มรื่น ได้ชื่นชมกุฏิพระมหาสาวก อริยสาวิกา มูลคันธกุฎีสามฤดู ได้สาธยายพระสูตร ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา เกิดศรัทธาปีติสุข หากมีวัดของพวกเราเอง คงพอจะได้ปฏิบัติธรรมให้นานๆ
            ในสมัยหนึ่งที่สาวัตถีแห่งนี้ เคยมีชาวไทยเรามาสร้างวัดไว้เหมือนกัน แต่บัดนี้ความเป็นอนิจจังได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นอื่นไปแล้ว พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณหลวงพ่อพระสุเมธาธิบดี ครั้งเมื่อดำรงหน้าที่เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ผู้เคยเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย มีความตรึงใจ สนิทชิดใกล้กับพระเชตวันแห่งนี้เคยมีปรารถนาอย่างแรงกล้า ขอให้ช่วยสร้างวัดไทยขึ้นในบริเวณสาวัตถีนี้ให้ได้ วัดไทยตามพุทธสถานสำคัญจะได้ครบทุกแห่ง
            เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าตั้งความปรารถนาต่อพระรัตนตรัย ขอบริจาคทรัพย์เพื่อบูชาพระพุทธศาสนา และช่วยฟื้นฟูต่ออายุศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สูญหายกลายเป็นทุ่งนา ป่าอ้อย เสมือนหนึ่งได้ทดแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ตนเองและครอบครัวได้อาศัยร่มเงาแห่งพุทธธรรม ในชีวิตนี้จึงมีความสุขที่พอเพียงเลี้ยงบริษัท บริวารได้
            การที่ได้โอกาสสร้างวัดไทยขึ้นที่สาวัตถี เท่ากับได้เดินตามทางที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสกผู้สร้างวัดพระเชตวันถวายพระพุทธองค์ อาศัยแบบอย่างจากวิสาขามหาอุบาสิกาและการสร้างวัดที่นี่ได้ช่วยนำคืนผืนดินถิ่นที่พระอริยเจ้าเคยอาศัยอยู่ ให้กลับคืนสู่ศาสนสมบัติของพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นกุศลยั่งยืน บุญถาวร กตัญญู ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่ถิ่นมาตุภูมิ
            การเริ่มต้นเมื่อพระเดชพระคุณ พระธรรมสุธี (สุชาโต) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ประธานอำนวยการจัดสร้างวัดไทยเชตวันมหาวิหาร รับบริจาคทรัพย์จากคุณวิวัฒน์-คุณเพียงพิศ  ทยานุวัฒน์, คุณกิ่งกาญจน์  อารักษ์พุทธินันท์ และคุณทองดี-คุณพูนทรัพย์  หรรษคุณารมณ์ ในวันอาสาฬหบูชา คณะสงฆ์ชุดแรกยาตราจากกุสินารา ลงพื้นที่เมื่อต้นพรรษากาลปฏิบัติงานตามประสงค์ และกำลังศรัทธาของมหาอุบาสิกาแห่งแดนมหามงคล ถวายการดูแลตลอดไตรมาส

 

คิดให้ไกล ช่วยกันไปให้ถึง

            ความตั้งใจอย่างสูงต่อการสร้างวัดขึ้นในนครสาวัตถี มีสารัตถะสำคัญตามที่กล่าวมาแล้ว ในภาพรวมที่ต้องเน้นให้เห็นประโยชน์อย่างยิ่งก็คือ จะใช้อาวาสที่สร้างขึ้นเป็นที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย สู่ภาคปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิต หน้าที่การงาน การบริหาร เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเมือง และการพระศาสนา ด้วยการตั้งคณะศึกษาค้นคว้า พระสูตร พระวินัย ธรรมบท ลีลาสาวก สาวิกา ฯลฯ ที่ทรงสั่งสอนตลอด ๒๕ พรรษา ในนครสาวัตถี ๑๙ พรรษา ในพระเชตวัน เรียกว่าที่แห่งนี้ในครั้งพุทธกาล เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีเรื่องราวล้วนเป็นประโยชน์นำมาปรับใช้ในปัจจุบันได้อย่างลงตัว จักได้ใช้ธรรมสภาเป็นที่สาธยายพระไตรปิฎกในหมวดหมู่ที่เกิดขึ้นในพระเชตวัน บุพพาราม ธรรมราชิการาม และอื่นๆ ทั่วนครสาวัตถี ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อนำหลักธรรมในเหตุการณ์จริงครั้งพุทธกาล ศึกษาเปรียบเทียบ เสร็จแล้วนำไปเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและประชากรโลกต่อไป

 

วัตถุประสงค์

            ๑.  เพื่อให้ชาวพุทธไทยร่วมใจสร้างวัดถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา
            ๒.  เพื่อขยายงานเผยแผ่และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในพุทธภูมิ ด้วยความดำริของคณะสงฆ์ไทย พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ร่วมกับพระธรรมทูตสายต่างประเทศเป็นแกนนำ
            ๓.  เพื่อเป็นที่พักปฏิบัติธรรม และดูแลคุ้มครองผู้มาแสวงบุญ ตามพุทธสถาน
            ๔.  เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับอินเดีย
            ๕.  เพื่อเป็นวัดของชาวไทยในนครสาวัตถีและเพิ่มจำนวนวัดตามพุทธสถานให้ครบสมบูรณ์ตามนโยบายของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย

 

สถานที่ก่อสร้าง

            วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนสาราวัสถิ เขตปกครองของตำบลสาวัตถี อำเภอบารามปูร์ จังหวัดบาหไรส์ รัฐอุตตรประเทศ ใกล้กับสถูปยมกปาฏิหาริย์ ไม่ห่างจากพระเชตวันวิหารกับบ้านท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และบ้านของบิดาองคุลีมาล

 

ลักษณะโครงการ

            ด้วยสถานที่ก่อสร้าง ตั้งอยู่ในปริมณฑลของมหาวิหารที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ในพื้นที่เคยเป็นของเจ้าเชตผู้เป็นอุปราชในพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงได้ชื่อว่าเชตวันมหาวิหาร มีความสมบูรณ์แบบทั้งสถานที่จัดตั้ง วางผังบริเวณได้สวยงาม ทุกมุมมุ่งเน้นที่ประโยชน์ใช้สอย แบ่งโซนวางเขตให้ชัดเจนถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย มีสัปปายะ ๔ ครบถ้วน สามารถอำนวยความสะดวกถวายพระบรมศาสดาและเหล่าอริยสาวก นั้นคือภาพในอดีต แต่ในปัจจุบันคงเหลือไว้ให้เห็นเพียงโบราณสถานที่รัฐบาลดูแลไว้เท่านั้น ถึงอย่างไรก็ตามอาณาบริเวณนี้เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นรมณียของพุทธสถานทั่วชมพูทวีป พระเชตวันแห่งนี้ยังนับว่าสง่างามเต็มรูปแบบเกินกว่าในที่ใดๆ
            การสร้างวัดนี้จึงมุ่งเน้นในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ถูกต้อง งดงาม ร่วมยุคสมสมัย จึงตั้งความหวังไว้ว่าวัดไทยเชตวันมหาวิหารแห่งนี้ จะนำหลักการที่ถอดรูปลักษณ์แต่โบราณของวัดพระเชตวันมาเป็นต้นแบบ คือดูจากด้านนอกเป็นงานสถาปัตย์โบราณ เรียบง่ายสมถะ ตั้งอยู่บนฐานเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนด้านในมุ่งประโยชน์ใช้สอยปัจจุบัน ให้ความสะดวกแก่ผู้มาปฏิบัติธรรม ให้ความสบายแก่ผู้มาแสวงบุญ เน้นการอนุรักษ์เคียงคู่กับการพัฒนาแบบยั่งยืน สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมศิลปะพื้นฐานชีวิตในถิ่นเดิม ส่วนพระอุโบสถและเขตพุทธาวาสเป็นงานสถาปัตยกรรมศิลปินแห่งชาติ งบประมาณการก่อสร้างบนพื้นฐานความพอเพียงตามพระราชดำริ

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

            พระธรรมสุธีร์ (พีร์  สุชาโต)                         ประธานอำนวยการจัดสร้าง
            พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด  ภูริปาโล)         ประธานดำเนินการจัดสร้าง
            พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์  วีรยุทโธ)              ประธานคณะทำงาน

 

แหล่งทุนและผู้ร่วมสนับสนุน

            ๑.  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
            ๒.  มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
            ๓.  พุทธบริษัทผู้จาริกไปแสวงบุญมีศรัทธาอย่างแรงกล้า
            ๔.  คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกจังหวัด
            ๕.  พระธรรมทูต สายต่างประเทศ
            ๖.  สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี
            ๗.  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
            ๘.  กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
            ๙.  พุทธบริษัทชาวไทย องค์กร สถาบัน และผู้ศรัทธาทั่วไป

 

งบประมาณ (ที่คาดว่าจะได้รับ)

            ๑.  จากพุทธบริษัทผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าบริจาคซื้อที่ดิน ๑๙ ไร่
            ๒.  จากเงินบริจาคตามสายงานพระธรรมทูตสายต่างประเทศ
            ๓.  จากการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานราชการ องค์กร มูลนิธิ และสถาบันต่างๆ
            ๔.  จากพุทธบริษัทผู้จาริกไปแสวงบุญ และผู้มีจิตศรัทธาในประเทศไทยและในประเทศอินเดีย
            ๕.  จากชาวอินเดียและนานาชาติผู้เห็นประโยชน์ร่วมกัน

 

ขั้นตอนดำเนินงาน

            ๑.  เสนอความเห็นชอบต่อหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย แล้วลงพื้นที่หาความเป็นไปได้เพื่อจัดซื้อที่ดินตามความเหมาะสม
            ๒.  ดำเนินการมอบหมายคณะทำงาน จัดซื้อที่ดินตามที่กำหนดและส่งพระธรรมทูตชุดบุกเบิกลงพื้นที่สร้างกำแพงและที่พักชั่วคราว
            ๓.  นำเรียนปรึกษาพระมหาเถระเป็นระยะๆ และจัดหาผู้อุปถัมภ์เบื้องต้น
            ๔.  เสนอโครงการขอความเห็นชอบ ต่อมหาเถรสมาคมและประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
            ๕.  สรรหาคณะบุคคลจากสายต่างๆ เพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการ
            ๖.  ประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างและเปิดรับบริจาค สายบุญผู้ศรัทธา
            ๗.  ดำเนินงานการก่อสร้างตามแบบแปลนแผนผัง โดยถอดแบบจากวัดเชตวันมหาวิหารเป็นแม่บท
            ๘.  มอบหมายให้สถาปนิก ศิลปินแห่งชาติ ออกแบบอาคารพระอุโบสถ นำเสนอรายงานสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, มหาเถรสมาคม, สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
            ๙.  มอบหมายให้สถาปนิกทางด้านภูมิสถาปัตย์ ออกแบบการวางแผนผังการก่อสร้าง เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ตั้งบนฐานของความเหมาะสมในยุคสมัย ที่มีพุทธวิถีเป็นเส้นนำทางสู่ภาคปฏิบัติ และเน้นวัตถุที่มีจุดหมายชัดเจนแห่งความเป็นวัตถุธรรม คือสื่อถึงธรรมมะได้ทุกสถานะอันจะเป็นการเจริญรอยตามเส้นทางการบำเพ็ญบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยประการทั้งปวง เมื่อผ่านความเห็นชอบในหลักการแล้ว นัดหมายสื่อมวลชนเพื่อประชาสัมพันธ์เป็นการเริ่มงานต่อไป

 

ระยะเวลาดำเนินงานตามแผนงาน (เริ่มปีพุทธศักราช ๒๕๔๙)

            ๑.  การจัดซื้อที่ดินครบตามกำหนด ๑๙ ไร่ ในปริมณฑลของมหาสถูปยมกปาฏิหาริย์
            ๒.  การจัดทำกำแพและศาลาทำบุญ (ชั่วคราว)
            ๓.  การปรับระดับพื้นที่และถมดินให้เต็ม สร้างกำแพงถาวร ประตู และรั้ว
            ๔.  การสร้างกุฎีที่พักสงฆ์ ๑๕ หลัง ที่พักชี และผู้มาปฏิบัติธรรม
            ๕.  การสร้างอาคารที่พักผู้แสวงบุญ
? อาคารอนาถบิณฑิกเศรษฐี?
            ๖.  การสร้างอาคารที่พักผู้แสวงบุญ
? อาคารวิสาขมหาอุบาสิกา?
            ๗.  การสร้างอาคารธรรมสภา เพื่อการเผยแผ่ หลักพุทธธรรม ต่อความเป็นศาสนาของศาสนาทั้งหลาย
            ๘.  การสร้างอาคารสังฆสภา เพื่อการบริหารจัดการ นำหลักในพระไตรปิฎกไปปรับใช้
            ๙.  การสร้างพระอุโบสถตามแบบศิลปินแห่งชาติ โดยสนองตอบความเรียบง่ายและพอเพียง
            ๑๐.  การสร้างถนน น้ำ ไฟ สิ่งสาธารณูปโภค ในระบบสิ่งแวดล้อม และนิเวศเชิงพุทธ
            ๑๑.  การสร้างโรงทาน โรงครัว หอฉัน จัดสวนป่าไม้มงคลในพุทธประวัติ
            ๑๒.  จัดสร้างสื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยหลักธรรมทางพุทธศาสนา คือ สถานพยาบาล โรงเรียน ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
            ๑๓.  การจัดผังบริเวณ ต้นไม้ ดูแลผู้แสวงบุญ และเตรียมงานผูกพัทธสีมา ฉลองวัด มอบวัดให้อยู่ในความดูแลของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทยและในความดูแลของมหาเถรสมาคม องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยต่อไป

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

            ๑.  พุทธบริษัทชาวไทย ได้ร่วมกันสร้างจิตสำนึกระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ด้วยการช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่หายไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างน่าอัศจรรย์
            ๒.  พสกนิกรใต้ร่มโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐหาที่สุดมิได้ ด้วยร่วมใจกันทั่วโลกสร้างพระอารามอันเป็นมหาวิหารในปริมณฑลเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพระพุทธองค์โปรดประทับนานที่สุด น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา เสมอด้วยพระชนมายุของพระพุทธองค์ นับเป็นมหาปีติที่เหล่าพสกนิกรได้ร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล
            ๓.  พระสงฆ์ทุกหมู่เหล่า ทุกนิกาย มหานิกาย ธรรมยุตินิกาย จีนนิกาย และอนัมนิกาย ทั้งในและต่างประเทศ ที่พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่พระธรรมทูตจากประเทศไทยปฏิบัติงานอยู่ ได้แสดงพลังแห่งสามัคคี ร่วมใจสร้างวัด คือที่รวมแห่งความดี สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาในแดนพุทธองค์
            ๔.  นับเป็นโอกาสมิ่งมงคลที่หน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน มูลนิธิพ่อค้า ประชาชน มีสมานฉันท์ร่วมกันคืนกำไรให้พุทธภูมิ อันเป็นแดนกำเนิดพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในสถานะที่เสื่อมทรุด เป็นการทำบุญใหญ่ให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของตน
            ๕.  พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ที่มหาเถรสมาคมมอบหมายให้ไปปฏิบัติงาน ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๒ ได้สนองงานด้วยวิริยะอุตสาหะ คุ้มครองดูแลชาวพุทธผู้ไปแสวงบุญ สร้างวัดไทยตามสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล และแห่งอื่นนับได้ ๑๐ วัดสมบูรณ์แล้ว แต่ยังขาดในที่สำคัญคือ นครสาวัตถี ที่ยังไม่มีวัดไทยอยู่เลย นับเป็นโอกาสอันดีที่พระธรรมทูตสายประเทศอินเดียซึ่งเป็นกำลังหลักในพุทธภูมิ ได้ขยายงานเผยแผ่ให้เต็มพื้นที่พุทธสถาน ตามนโยบายของคณะพระธรรมทูตได้อย่างสง่างาม
            ๖.  พระธรรมทูตสายต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้แสดงความกตัญญู สำนึกในพระคุณของแดนกำเนิดพระพุทธศาสนา หรือรากเหง้าของศาสนา ที่ได้ร่มเงา ดอกผล ก็เพราะต้นที่อินเดีย–เนปาล เมื่อได้สิ่งที่พึงพอใจแล้วก็หวนกลับไปช่วยกันรดน้ำพรวนดิน ให้ต้นเดิมไม่แห้งน้ำ ขาดปุ๋ย อันจะส่งผลให้ดอกผล ร่มเงา ที่อาศัยพลอยกระทบด้วย พระธรรมทูตที่ประจำอยู่ในต่างประเทศได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ด้วยการกลับไปช่วยกันสร้างวัดไทยขึ้นในสถานอันเป็นที่พระพุทธองค์แสดงพระสูตร พระอภิธรรมและบัญญัติพระวินัย นับว่าได้สนองคุณพระพุทธศาสนาได้อย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรี
            ๗.  ได้วัดไทยที่จะเป็นศูนย์การศึกษาที่กว้างไกล โดยเฉพาะกรณีศึกษาพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอน ทรงบัญญัติ ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร วัดบุพพาราม นครสาวัตถีมีมากมาย หากศึกษาให้ถ่องแท้จะสามารถนำไปปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันจะเอื้อประโยชน์อย่างยิ่ง
            ๘.  พุทธบริษัทแห่งประเทศไทย มีความภูมิใจที่มีวัดไทยขึ้นที่นครสาวัตถี จะได้เป็นที่พัก ที่เจริญจิตภาวนา ศึกษาและปฏิบัติธรรม สามารถรองรับผู้จาริกแสวงบุญที่นี่ ทั้งคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ได้อย่างพอเพียง

 




งานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่พุทธภูมิ ....

วันชาติอินเดีย 2557



Copyright © 2019 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์
ติดต่อ วัดไทยเชตวันมหาวิหาร
Wat Thai Chetavan Mahavihar
Sravasti - Baharaich Road , Vill.Ghughulpur , P.O. Ghughulpur Distt. Balrampur , (U.P.) INDIA. Pin code 271201
โทรศัพท์ : เบอร์เจ้าอาวาส (อินเดีย) +919935030696 , (ไทย) 0680395005
โทรศัพท์ : กองงานเลขาฯวัด (อินเดีย) +91 9554 647437
Email : cetavan939@gmail.com
Line ID: @watthai939