dot dot
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
ภูมิพโลภิกขุ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ  สยามมกุฎราชกุมาร
dot
ประมวลภาพกิจกรรม
dot
bulletภาพ งานก่อสร้าง
bulletภาพ งานสร้างอาคาร
bulletสงเคราะห์โรงเรียน
bulletคนปลูกป่าพัฒนาอาราม
bulletอัลบั้มรวมภาพ
bulletทำเนียบวัด
bulletภาพเก่า เล่าใหม่
bulletภาพเก่า เล่าอดีต
bulletแปลนการก่อสร้าง
bulletวัดไทยเชตวันฯ ปี๒๕๕๕
bulletงานกฐินวัดบุพพาราม
bulletอาคาร “อนาถบิณฑิกเศรษฐี”
bulletงานกฐินพระราชทาน ปี 55
bulletงานกฐินพระราชทาน ปี 56
bulletทอดผ้ากฐินสามัคคี ๒๕๖๐
dot
พระสูตรที่ทรงสอนที่เชตวัน
dot
bulletโปฏฐปาทสูตร
bulletมหาปทานสูตร
bulletลักขณสูตร
bulletธชัคคสูตร


เฟสบุ๊ควัดไทยเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้พระพุทธเจ้า
วัดไทยลุมพินี ราชอาณาจักรเนปาล
วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย
พุทธวิหาร สาลวโนทยาน ๙๖๐ ชายแดนประเทศอินเดีย-เนปาล
ชีวิตและงานพระธรรมทูตไทยในอินเดีย ดร.พระมหาคมสรณ์
วัดไทยพุทธคยา พิหาร อินเดีย


นครสาวัตถี article


อาณาจักรโกศล

 

            จากลุมพินีวันแดนประสูติ มุ่งสู่อาณาจักรโกศล ในฝั่งแผ่นดินของประเทศอินเดีย ถ้าผ่านด่านด้านประเทศเนปาลแล้ว จะไปเมืองสาวัตถีก็เพียง ๑๗๒ กม. (๒๕๐ กม.) ใช้เวลาวิ่งประมาณ ๖-๗ ชม. จะวิ่งไปตั้งหลักที่โครักขปุร์ หรือที่นิยมก็วิ่งเลียบชายแดนเนปาลออกไปทางเมืองกบิลพัสดุ์ใหม่ก็ได้ ในระหว่างทางรถจะตัดเข้าเขตคามนิคม หมู่บ้าน ชุมชน ผู้สัญจรจะได้ศึกษาภารตวิทยา บ้านที่ฉาบไล้ด้วยโคมัยสด ชีวิตเท้าติดดิน หัวถวิลถึงฟ้า ฝูงแพะ แร้ง กา วัว ควาย มีให้ชม เป็นสวนสัตว์เปิด ตัดผ่านท้องทุ่ง ข้าวสาลีเขียมชอุ่มทอดรวงยาว ยามต้องสายลมโยกโยนไปมา ดอกผักกาดระดาษเหลืองอร่าม ระบายสีแผ่นดินให้งดงาม กองมูลโคแห้ง ทั้งแท่งทั้งแผ่นวางไว้ข้างทาง ตลาดร้านรวงยึดถนนหลวงเป็นที่ค้าขาย หมู่ผู้ชายนุ่งโธตี ออกจ่ายตลาดตอนเย็น เป็นภาพชีวิตที่มีให้เห็นได้ตลอดเส้นทางนี้

            แคว้นโกศลมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อูธ (Oudh) ชื่อนี้เลือนมาจากคำว่า อโยธยา (Ayodhya) อันเป็นชื่อเมืองสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ในฐานะเป็นเมืองหลวงดั้งเดิมของแคว้น และเป็นเมืองของพระรามตามคัมภีร์รามายณะ หรือเรื่องรามเกียรติ์ อโยธยาจึงมีความสำคัญ กล่าวต่อมาชื่อเมืองอโยธยา เลยเรียกกันเป็นชื่อแคว้นด้วย เมืองอโยธยายังมีอยู่ในปัจจุบัน เรียกกันวา อโยธยา บ้าง อูธ บ้าง และ อวัธ บ้าง

            นครสาวัตถีเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโกศล เป็น ๑ ใน ๖ ของเมืองมหาอำนาจ มีความรุ่งเรืองมากในมหาชนบท ๑๖ แคว้นของชมพูทวีป ซึ่งมีกษัตริย์ คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ครองบัลลังก์แห่งอาณาจักรโกศล มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้พระเจ้าพิมพิสาร แห่งมคธรัฐ หรือกษัตริย์วงศ์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี

            ในสมัยพุทธกาล แคว้นโกศลเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองและมีอำนาจมาก แคว้นกาสี แคว้นสักกะแห่งศากยวงศ์ ก็อยู่ภายใต้อำนาจ หรือความคุ้มครองของแคว้นโกศล เพราะเมืองสาวัตถีเป็นมหาอำนาจทางการเมือง ทางทหาร ที่มีความพร้อมด้วยแสนยานุภาพ ทั้งในแผ่นดินก็อุดมด้วยธัญพืช พระพุทธองค์จึงทรงปักหลักประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ที่สาวัตถี รวม ๒๕ พรรษา

            โดยเสด็จประทับที่พระอารามเชตวันมหาวิหาร ๑๙ พรรษา และที่พระวิหารบุพพาราม ๖ พรรษา จะเห็นได้ในธรรมนิทานทางพระพุทธศาสนา จะเป็นชาดกอรรถกถา วรรณคดีสายบาลี ที่จะไม่เอ่ยถึงเมืองสาวัตถีเลย เห็นจะมีน้อยมาก หรือไม่มีเลย

            ตามตำนานกล่าวว่า อาณาจักรโกศลมีหมู่บ้านรวมทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน แต่ไม่มีวัดในพระพุทธศาสนามากเท่าอาณาจักรมคธ พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับในแคว้นโกศลตอนปลายพระชนม์ชีพถึง ๒๕ พรรษา จนกระทั่งเห็นความล่มจมของกรุงกบิลพัสดุ์และศากยวงศ์แล้ว จึงได้เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปปรินิพพานที่นครกุสินารา

 

 

นครสาวัตถี

            สาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ปัจจุบันได้แก่ บริเวณซากกองอิฐ มูลดิน ก้อนหินเรียงตั้งในลักษณะเป็นเมืองเก่า ที่ชาวบ้านเรียกว่า สาเหต-มาเหต หรือ สาเหฐ-มาเหฐ (Saheih – Maheih) ในเขตจังหวัดบาห์ไรจ์ (Bahraich) ห่างจากสถานีโคณฑา (Gonda) ๕๙ กม. จากการขุดค้นสำรวจซากโบราณสถานของ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ที่เรียกว่า มาเหต ได้แก่ตัวเมืองสาวัตถี สาเหต ได้แก่พระเชตวันมหาวิหาร โดยอาศัยศิลาจารึกที่จารึกว่าที่พระพุทธรูปองค์ที่ค้นพบ ณ ที่ตั้งของเมืองนี้ อยู่ทางด้านใต้ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ ๑ กม. มีเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ไร่ (๓๒ เอเคอร์) ชื่อสาเหต-มาเหต เรียกกันน้อยมาก และที่เรียกขานในภาษาสันสกฤตว่า ศราวัสตี (Srawasti) ชื่อบาลีที่เราใช้กันคือ สาวัตถีนั่นเอง

            หลวงจีนถังซัมจั๋ง เรียกชื่อเมืองนี้ว่า เซ้-โล-ฟา-ซิ-ตี้ ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นผู้มาสำรวจนครสาวัตถีเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕ (ค.ศ.๑๘๖๒) โดยอาศัยหลักฐานจากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนกับหลวงจีนถังซัมจั๋งเป็นหลัก ได้มีการขุดค้น ๒ ครั้ง ครั้งแรกได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง สูง ๗ ฟุตเศษ จารึกไว้ชัดเจนว่าสร้างที่เมืองสาวัตถี การขุดค้นครั้งที่สอง ไม่พบอะไรที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นายวินเซนต์ สมิธ มีความเห็นขัดแย้งว่า เมืองสาวัตถีน่าจะตั้งอยู่ที่ประเทศเนปาล แต่ก็ยุติข้อขัดแย้งได้ เมื่อเซอร์ จอห์น มาร์แซล ทำการขุดในปี พ.ศ.๒๔๕๒ (ค.ศ.๑๙๐๙) พบเหรียญทองแดงมากมาย ซึ่งบ่งชัดว่าสาเหต-มาเหตคือเมืองสาวัตถีอย่างไม่ต้องสงสัย

            ท่านพุทธโฆษาจารย์ได้อธิบายความหมายของอาณาจักรโกศลไว้ในสุมังคลวิลาสินีอรรถกถาว่า โกศล เป็นคำเดียวกับ กุศล แปลว่า สุขสมบูรณ์ หรือสบายดี และได้เล่าเรื่องเจ้าชายมหาปนาทไม่ยิ้ม พระบิดาทรงเป็นทุกข์ ป่าวร้องว่า ใครทำให้ยิ้มได้ จะให้รางวัล พระอินทร์ส่งคนมาช่วยทำให้ยิ้มได้ ใคร ๆ ก็แสดงความยินดีต่อคนเก่งคนนั้น ด้วยการทักทายว่าสบายดีหรือ เขาก็ต้องตอบว่า กุศล ๆ จนกลายเป็นเมืองโกศลในที่สุด

            อีกนัยหนึ่งที่เรียกว่าสาวัตถีนั้น เรียกชื่อตามฤาษี สาวัตถะ ซึ่งจำศีลอยู่ที่นั่น ท่านพุทธโฆษายังได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ในคัมภีร์อรรถกถาปปัญจสูทนีว่า สาวัตถีมาจากศัพท์ สัพพะ กับ อัตถะ แปลความว่า บรรดาสิ่งของทั้งปวงที่พึงปรารถนามีอยู่พร้อมแล้วที่นี่ ซึ่งมีเรื่องเดิมว่า มีเกวียนหมู่หนึ่งมาจอดพักที่นั้น ชาวบ้านจึงเข้าไปรุมล้อมถามว่า มีอะไรบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า สัพพอัตถะ ดังกล่าวแล้ว แต่ในวิษณุปุราณะ กล่าวว่า กษัตริย์ผู้สืบสายจากอิกสวากุองค์หนึ่ง ชื่อ สารวัตถะ เป็นผู้ตั้งเมืองนี้ขึ้น

 

 

พระราชาปเสนทิโกศล

            พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาของแคว้นโกศล ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเคารพนับถือในพระพุทธองค์อย่างแน่นแฟ้น ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้เข้ามาหมอบกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “มหาบพิตร มีอะไรหรือจึงแสดงความรักความเคารพตถาคตถึงเพียงนี้”

            พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เลื่อมใสในพระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เลื่อมใสในสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ปฏิบัติดีแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ชาวสาวัตถี พระองค์ทรงกระทำให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศลอยู่ในความดี” นอกจากนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลความเลื่อมใสในพระธรรม เทิดทูนในพระปัญญาอันยอดยิ่ง และความรักเคารพที่มีต่อพระพุทธองค์อีกหลายประการ ในที่สุดกราบทูลว่า

            “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เท่ากับอายุของหม่อมฉัน ด้วยเหตุนี้แล หม่อมฉันจึงได้มีความรักความเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงแสดงอาการฉันท์มิตรเช่นนี้” ตรัสดังนี้แล้วกราบทูลลาหลีกไป

            เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปแล้วไม่นาน พระพุทธองค์มีรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ตรัสธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม เธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์นี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์”

            พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อมีโอกาสก็จะเสด็จมาเฝ้าเนือง ๆ เพราะความรักและเคารพในพระพุทธองค์ ใคร่จะสนทนาด้วย บางครั้งพระพุทธองค์ทรงอนุเคราะห์พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นการส่วนพระองค์ เช่น ในโทณปากสูตร แสดงไว้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเสวยจุ จึงทรงมีน้ำหนักมาก เวลาประทับนั่งก็ไม่สะดวก ประทับยืนก็ไม่คล่องแคล่ว เมื่อเข้ามาเฝ้าก็มีอาการอึดอัด พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระคาถาว่า “มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะ ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า และมีอายุยืน”

            พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สติ ให้สุทัศนกุมาร พระนัดดาซึ่งตามเสด็จมาด้วย เรียนพระคาถานี้ไว้ เวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสวยครั้งใด สุทัศนกุมารก็จะกล่าวคาถานี้ ทำให้เสวยแต่พอประมาณ ต่อมาปรากฏว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่าคล่องแคล่วขึ้น ทรงระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ตรัสว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้งสองอย่าง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ”

            สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามว่า “สมณพราหมณ์บางพวกเป็นคณาจารย์ เป็นเจ้าลัทธิ มีเกียรติ มีชื่อเสียง ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์ถามก็ยังมิกล้าปฏิญาณตนได้ว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังมีชันษาอยู่ในวัยหนุ่ม และเป็นผู้ใหม่ในบรรพชิต ไฉนจึงกล้าปฏิญาณได้เล่า”

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนมหาบพิตร สิ่ง ๔ ประการ เหล่านี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย” คือ

            ๑.  กษัตริย์ ไม่ควรดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์

            ๒.  งู ไม่ควรดูหมิ่นว่าตัวเล็ก

            ๓.  ไฟ ไม่ควรดูหมิ่นว่ากองเล็ก

            ๔.  ภิกษุ ไม่ควรดูหมิ่นว่ายังใหม่ต่อเพศบรรพชิต

            ทั้งนี้เพราะเหตุว่ากษัตริย์ได้เสวยราชสมบัติแล้ว เมื่อพิโรธย่อมทรงลงพระอาญาอย่างหนักแก่ชายหญิงได้ เพราะฉะนั้นผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ งู ที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูหมิ่นว่าตัวเล็ก เพราะงูเป็นสัตว์ที่มีพิษ พร้อมที่จะฉกกัด ทำร้ายชายหญิงผู้เขลา เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการดูหมิ่นงูนั้นว่าตัวเล็ก ไฟ แม้กองเล็กแต่เมื่อได้เชื้อ ย่อมลุกเป็นกองใหญ่ ลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในบางคราว เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการดูหมิ่นไฟนั้นว่ากองเล็ก ภิกษุใดดูหมิ่นภิกษุผู้ยังใหม่ต่อเพศบรรพชิต แต่สูงด้วยคุณธรรม เดชแห่งศีลของภิกษุ ย่อมทำความพินาศแก่ผู้นั้น อีกทั้งทายาทจะไม่ได้รับทรัพย์มรดก บุคคลนั้นจะเป็นผู้ปราศจากเผ่าพันธุ์ เปรียบเสมือนตาลยอดด้วน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาเห็นกษัตริย์ผู้ทรงยศ งู ไฟ และภิกษุผู้มีศีลว่าเป็นแก่ตน พึงประพฤติต่อสิ่งเหล่านั้นโดยชอบทีเดียว

            เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจบลง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระทัยเลื่อมใสในพระรัตนตรัยด้วยพระธรรมเทศนานี้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงยกข้าพระองค์ซึ่งตกไปในอสัทธรรมไว้ในสัทธรรม เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ ทรงเปิดพระศาสนาที่มิจฉาทิฏฐิปิดไว้ ทรงกระทำทางสวรรค์และนิพพานให้ชัดแจ้งแก่ข้าพระองค์ เหมือนทรงบอกทางแก่ผู้หลงทาง ทรงชูดวงประทีปคือ พระธรรมเทศนาที่กำจัดความมืด ทรงประกาศธรรมแก่ข้าพระองค์โดยปริยายเป็นอันมาก ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลัก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณคมณ์จนตลอดชีวิต”

 

 

พระพาหิยเถระ

            กุลบุตร ชื่อ พาหิยทารุจีริยะ อาศัยอยู่ที่ท่าสุปปารกะใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้ที่มหาชนสักการะบูชา เคารพยำเกรง ด้วยเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ เทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตในกาลก่อนของกุลบุตรนั้นเข้ามาหากล่าวว่า ท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ และไม่มีปฏิปทาที่จะให้เป็นพระอรหันต์ ก็บัดนี้ในชนบททางเหนือมีนครชื่อว่าสาวัตถี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระนครนั้น ท่านเป็นพระอรหันต์แน่นอน ทั้งทรงแสดงพระธรรมเทศนาเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย กุลบุตรได้ยินแล้วสลดใจหลีกไปจากท่าสุปปารกะ เดินทางไปเฝ้าพระศาสดา ณ พระเชตวันวิหารในทันที โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่ง

            ที่พระเชตวันวิหาร กุลบุตรเห็นภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง จึงเข้าไปถามหาพระบรมศาสดา ภิกษุกล่าวว่า “พระพุทธองค์เสด็จสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี” กุลบุตรนั้นรีบตามไป ได้เห็นพระพุทธองค์กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาต มีอินทรีย์สงบ มีอินทรีย์สำรวม จึงเข้าไปหมอบกราบลงแทบพระบาทในระหว่างถนน กราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม พระพุทธองค์ตรัสว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังมิใช่กาลอันสมควร เพราะเรายังบิณฑบาตอยู่” พาหิยะได้กราบทูลวิงวอนขออีกเป็นครั้งที่สอง ทั้งนี้เพราะพระบรมศาสดาทรงเห็นว่าปีติที่มีกำลังมากของกุลบุตรนี้ แม้จะได้ฟังธรรมแล้ว ก็จักไม่สามารถบรรลุได้ พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะให้พัก เพื่อบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางเสียก่อน เพราะพาหิยะเดินทางมาสิ้นหนทาง ๑๒๐ โยชน์ โดยราตรีเดียวเท่านั้น แม้กระนั้นพาหิยะก็วิงวอนขออีกเป็นครั้งที่สาม

            พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ดูก่อนพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นสักว่าเห็น เมื่อฟังสักว่าฟัง เมื่อทราบสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มี ในกาลใดเธอย่อมไม่มี ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”

            ขณะนั้น พาหิยทารุจีริยะ ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ บรรลุพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยพระโอวาทโดยย่อในระหว่างถนนนั่นเอง พาหิยทารุจีริยะกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “บาตรและจีวรของเธอมีครบแล้วหรือ” พาหิยะกราบทูลว่า “ยังไม่ครบ พระเจ้าข้า” พระศาสดาจึงตรัสว่า “เธอจงไปแสวงหาบาตรและจีวรมาก่อนเถิด” แล้วพระองค์ก็เสด็จหลีกไป

            ขณะที่พาหิยะกำลังแสวงอัฏฐบริขาร อมนุษย์ผู้มีเวรต่อกันในกาลก่อน เข้าสิงในร่างของโคแม่ลูกอ่อน ขวิดเข้าที่โคนขาซ้าย พาหิยะถึงแก่ความตายทันที

            พระพุทธองค์กลับจากบิณฑบาต เสด็จออกจากกรุงสาวัตถี พร้อมภิกษุทั้งหลาย ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะ ล้มอยู่ที่กองขยะในระหว่างทาง จึงโปรดให้ภิกษุทั้งหลายช่วยกันนำสรีระของพระพาหิยทารุจีริยะไปกระทำฌาปนกิจ รับสั่งให้เก็บอัฐธาตุ แล้วโปรดให้สร้างสถูปไว้ที่หนทางใหญ่

            ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลถามถึงคติของพระพาหิยะ พระพุทธองค์ตรัสว่า “พาหิยทารุจีริยะ เป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบากด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา พาหิยทารุจีริยะนิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน”

            ภิกษุสงสัยว่า พาหิยะบรรลุเมื่อใด พระพุทธองค์ตรัสว่า “ในกาลที่ฟังธรรมของเราในระหว่างถนน” ภิกษุทูลถามอีกว่า “พระบรมศาสดามิได้ทรงแสดงธรรมมากเลย เพราะเหตุใดพาหิยะจึงได้บรรลุอรหัตตผล” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ธรรมน้อยหรือมากมิใช่เหตุ” แล้วตรัสคาถาว่า “คาถาบทเดียวฟังแล้วสงบระงับ ย่อมประเสริฐกว่าคาถาตั้งพัน แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์” จบพระธรรมเทศนามีผู้บรรลุธรรมมากมาย ต่อมาภายหลัง พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพาหิยทารุจีริยะท่ามกลางสงฆ์ว่า เธอเป็นขิปปภิญญา (ผู้ตรัสรู้เร็ว)

 

 

อารามสำคัญของสาวัตถี

            นครสาวัตถีมีวัดสำคัญ ๆ อยู่หลายวัด แต่ที่เป็นมหาวิหารซึ่งมีผู้สร้างขึ้น ๓ แห่ง คือ

            ๑.  เชตวันมหาวิหาร พระอารามที่อนาถปิณฑิกสร้างถวาย ในสมัยที่ท่านเป็นพ่อค้า ชื่อ สุทัตตะ ไปประกอบธุรกิจยังเมืองราชคฤห์ และได้ประกาศตนเป็นอุบาสก กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จที่นครสาวัตถี และได้สร้างวัดพระเชตวันมหาวิหาร ถวายพระพุทธองค์

            ๒.  บุพพารามมหาวิหาร ที่นางวิสาขามิคารมารดาเป็นผู้สร้างไว้ มีอาคารที่พักถึง ๑,๐๐๐ ห้อง พร้อมด้วยเครื่องใช้ไม้สอย และเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อมทุกห้อง ทั้งนี้พระพุทธองค์ทรงบัญชาให้พระโมคคัลลานเถระเป็นผู้อำนวยการสร้าง พระพุทธองค์จำพรรษาที่บุพพารามนี้ ๖ พรรษา

            ๓.  ราชิการาม ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง แรกทีเดียวเป็นสถานที่ตั้งอารามของคณาจารย์นอกพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงย้ายสำนักของคณาจารย์เหล่านั้นออกไปเสีย และทรงสร้างราชิการามไว้เป็นที่อยู่ของภิกษุณี ซึ่งในครั้งนั้นมีนางภิกษุณีสุมณา ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระองค์เอง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตรหลายพระสูตรเช่น นันทโกวิทสูตร และพระธรรมเทศนาอีกหลายพระสูตร อันมีมาในสังยุตนิกาย เป็นต้น    

 

 

มงคลสูตร

            ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ท้าวสักกะให้เทวดาองค์หนึ่งมากราบทูลถวายพระพุทธองค์ว่า “เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลายมาเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ขอพระพุทธองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดว่าคืออย่างไร เพื่อนำประโยชน์สุขมาให้โดยส่วนเดียวแก่ชาวโลกทั้งปวง”

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาตอบว่า “การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ พาหุสัจจะ ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑ การบำรุงบิดา ๑ การบำรุงมารดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ การงดเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมตามกาล ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ จิตอันไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ จิตเกษม ๑

            นี้เป็นอุดมมงคล เป็นมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประพฤติมงคลเช่นนี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ”

 

 

พระเชตวันมหาวิหาร

            อดีตเป็นบริเวณที่ร่มรื่น หนาไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ พร้อมด้วยกุฎี อาศรมสงบ ทำให้ย้อนรำลึกถึงครั้งพระพุทธองค์ทรงยังมีพระชนม์ชีพ ประทับอยู่ที่นี่ถึง ๑๙ พรรษา พระองค์คงจะเสด็จดำเนินไปมา ประทับรอยพระบาทไว้ทั่วอาณาบริเวณ หมู่ชนจากจตุรทิศถือดอกไม้ ของหอม เครื่องใช้อันสมควรแก่สมณะ และฟังพระธรรมเทศนา ณ ธรรมศาลาในพระเชตวัน แม้บรรดาเทวดาก็เพียรพยายามเข้ามาเพื่อรับฟังกระแสธรรมจากพระพุทธองค์

            พระเชตวันมหาวิหารแห่งนครสาวัตถี อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สร้างถวายพระพุทธองค์ด้วยความศรัทธาอย่างยิ่ง ตามตำนานกล่าวว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นชาวเมืองสาวัตถี ไปค้าขายที่เมืองราชคฤห์ ได้พบพระบรมพระศาสดาที่สีตวัน เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธธรรม จึงออกปากนิมนต์ให้พระพุทธองค์มาโปรดสัตว์ที่เมืองสาวัตถี แล้วอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปขอซื้อป่าไม้ของเจ้าเชต ซึ่งอยู่นอกเมืองสาวัตถีตอนใต้ เพื่อสร้างอารามถวายพระบรมพระศาสดา

            ตอนแรกเจ้าเชตไม่ยอมขาย และพูดอย่างเสียไม่ได้ว่า ถ้าอนาถบิณฑิกเศรษฐีเอาเหรียญทองมาปูให้เต็มป่าจึงจะยอมขาย อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เอาเหรียญทองมาปูเต็มป่าจริง ๆ ทำให้เจ้าเชตเห็นความศรัทธาอย่างแรงกล้าของอนาถบิณฑิก จึงยอมลดราคาให้กึ่งหนึ่ง โดยคิดแต่เพียง ๑๘ โกฏิกหาปณะ แล้วอนาถบิณฑิกะก็ใช้เงินอีก ๑๘ โกฏิกหาปณะ สร้างมหาวิหาร และทำการฉลองอีก ๑๘ โกฏิกหาปณะ รวม ๕๔ โกฏิกหาปณะ และเรียกชื่อพระอารามว่าเชตวันตามเจ้าของเดิม

            การสร้างวัดทำบุญใหญ่ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำให้เกิดการลือลั่นสนั่นไปทั่วเมืองสาวัตถี เพราะยังไม่เคยมีเศรษฐีคนใด ทำได้ถึงขนาดนี้มาก่อน ทำให้พวกพราหมณ์เจ้าลัทธิต่าง ๆ ในเมืองสาวัตถีริษยา และต่อต้านการกระทำของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จนพระบรมศาสดาได้พระอัครสาวกสารีบุตรมาช่วยในการก่อสร้างพระเชตวันมหาวิหาร และเป็นกำลังใจแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระสารีบุตรมาถึงเมืองสาวัตถีก็เผชิญหน้ากับเจ้าลัทธิต่าง ๆ เหล่านั้น และได้ประฝีปากกันอย่างหนัก ซึ่งในที่สุดพระสารีบุตรก็เอาชนะเจ้าลัทธิทั้งหมดได้ ทำให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีหน้ามีตา สร้างวัดพระเชตวันมหาวิหารจนสำเร็จ ตึกที่สร้างครั้งนั้น สูง ๗ ชั้นก็มี แล้วทำการฉลองถึง ๙ เดือน พร้อมกับนิมนต์พระบรมศาสดามาประทับนับแต่นั้นเป็นต้นมา

            การเสด็จมาของพระบรมศาสดา ได้ถูกต่อต้านอย่างหนาแน่นยิ่งขึ้นจากเจ้าลัทธิต่าง ๆ ซึ่งนอกจากเจ้าลัทธิโบราณแล้ว นครสาวัตถียังมีศาสนาเชนตั้งมั่นเป็นปึกแผ่นก่อนพระพุทธศาสนา ศาสนาอาชีวกก็มีศูนย์กลางอยู่ที่นั่น กับยังมีปริพาชกอีกมาก ที่หาเรื่องใส่ร้ายให้ประชาชนเกลียดชังพระบรมพระศาสดามากมาย    

            อีกครั้งหนึ่ง พวกปริพาชกจ้างนางสุนทริกาให้เที่ยวโฆษณาว่า ได้เสียกับพระบรมศาสดา พอตกเย็นนางสุนทริกาจะแต่งตัวแช่มช้อย ทัดดอกไม้อย่างงาม เดินกรีดกรายเข้าไปในพระเชตวันมหาวิหาร พบชาวบ้านคนใดก็โฆษณาว่า เธอจะไปปรนนิบัติพระองค์พระบรมศาสดา ต่อมาพวกปริพาชกก็ฆ่านางสุนทริกาเสีย แล้วเอาศพไปหมกไว้ใต้คันธกุฎิของพระพุทธองค์ พอศพเน่าคนได้กลิ่นก็พากันมาดู ต่างเข้าใจว่าพระบรมศาสดาฆ่านางสุนทริกาในเรื่องชู้สาวเป็นแน่ ข่าวนี้ระบือไปทั่วกรุงสาวัตถีอย่างรวดเร็ว จนพระพุทธเจ้าต้องงดเสด็จออกบิณฑบาตเวลาเช้า พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องการรู้ความจริง โปรดให้นักสืบออกสืบสาวราวเรื่องภายใน ๗ วัน ก็จับคนร้ายที่ฆ่านางสุนทริกาได้ทั้งหมด

            พระบรมศาสดาได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนใจบุคคลสำคัญ และเจ้าลัทธิใหญ่ในนครสาวัตถีเป็นอันมาก เช่น พราหมณ์อัคคิกะภารัทวาชะ ที่ตะโกนด่าพระพุทธองค์ พราหมณ์ชานุโสณิ พราหมณ์ธนัญชานิ ล้วนเป็นศัตรูตัวร้ายของพระบรมศาสดา เมื่อกลับใจแล้วได้กลายเป็นอุปัฏฐากที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา เจ้าลัทธิใหญ่ ๆ ที่กลับใจมารับนับถือพุทธธรรมตลอดชีวิต เช่น โบกขรสาติแห่งอุกกัฏฐา โลหิจจะแห่งสาลวัตติกา จังกี่แห่งโอปสาทะ และที่ทำข่าวเอิกเกริกที่สุด คือ สานุศิษย์ของพาวรี ๑๖ คน เดินทางจากฝั่งแม่น้ำโคธาวรี มาขออุปสมบทที่พระเชตวันมหาวิหาร

 

 

ฟาเหียนมาเห็น

            หลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้ว่า ที่พระเชตวันมีวิหาร ๗ ชั้น มีกษัตริย์ และไพร่ฟ้าประชาชนในประเทศต่าง ๆ มาทำบุญอยู่เสมอ มหาวิหารเชตวันจึงสมบูรณ์ด้วยแพรไหมอย่างวิเศษ ห้อยอยู่ทั่วไป ดอกไม้นานาชนิดก็บานสะพรั่ง และประทีปโคมไฟตามไว้วันยังค่ำ คืนยังรุ่ง วันหนึ่งหนูตัวหนึ่งคาบเอาไส้ตะเกียงซึ่งกำลังติดไฟวิ่งเข้าไปซุกแพรและไหม จึงเกิดไฟไหม้วิหารพินาศหมดสิ้น ต่อมาพระมหากษัตริย์และประชาชนช่วยกันสร้างวิหารขึ้นใหม่ ๒ ชั้น และประดิษฐานพระพุทธรูปที่ไฟมิได้ทำอันตรายไว้ที่เดิม

            ขณะที่หลวงจีนเดินทางมาถึงพระอารามเชตวัน ยังมีภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ พร้อมให้การต้อนรับท่านเป็นอย่างดี ภิกษุเหล่านั้นแปลกใจถามท่านว่ามาจากไหน เมื่อทราบ ก็แปลกใจ กล่าวว่า “ไม่น่าเชื่อว่าจะมีชาวต่างประเทศเดินทางมาจากแดนไกลเช่นนั้น เพื่อมาสืบพระศาสนา” และกล่าวต่อไปว่า “พระพุทธศาสนาได้สืบทอดมาหลายชั่วคนแล้ว ยังไม่มีชาวพุทธจีนเดินทางมาถึงที่นี่เลย”

            เชตวันมหาวิหาร เหมือนมีชีวิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลาย ถึงวาระสุดท้าย เมื่อถูกพวกมุสลิมรุกราน เมื่อปี พ.ศ.๑๖๗๑ (ค.ศ.๑๑๒๘) ได้เข้าทำลายวัดวาอารามหมดสิ้น เชตวันมหาวิหารจึงจมดิน จมทราย เหลืออิฐหัก กากปูนไว้เป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

 

กุฎีโกสัมพี

            อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกา พากันส่งข่าวจากกรุงสาวัตถี ขอให้พระอานนท์ซึ่งอยู่ ณ โฆสิตาราม กราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์ ขอให้เสด็จกลับกรุงสาวัตถี

            ขณะเดียวกัน ภิกษุจากทิศต่าง ๆ ประมาณ ๕๐๐ รูป ครั้นออกพรรษาแล้ว พากันเข้ามาหาและวิงวอนขอให้พระอานนท์พาไปเฝ้าพระบรมศาสดา ด้วยประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า พระอานนท์จึงพาภิกษุเหล่านั้นไปยังรักขิตไพรสณฑ์ แล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนแต่ผู้เดียว

            ช้างปาริเลยยกะเห็นพระอานนท์ ก็ปรี่เข้ามาจะทำร้าย พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ว่า “นั่นเป็นพุทธอุปัฏฐากของเรา” ปาริเลยยกะจึงเข้ามาจะขอรับบาตร แต่พระอานนท์วางบาตรของท่านลงบนพื้น ถวายบังคมแล้วกราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ พระบรมศาสดารับสั่งให้พาภิกษุ ๕๐๐ รูปเข้ามา ภิกษุเหล่านั้นถวายบังคม แล้วกราบทูลถามถึงผู้กระทำวัตรถวายในระหว่างพรรษา พระพุทธองค์ทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสชมเชยช้างปาริเลยยกะว่า “ภิกษุทั้งหลาย ช้างปาริเลยยกะกระทำกิจทุกอย่างแก่เราตลอดพรรษา การมีสหายเช่นนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐนัก ถ้าไม่ได้สหายเช่นนี้ ควรเที่ยวไปผู้เดียวตามลำพัง เหมือนช้างมาตังคะละโขลงแล้วเที่ยวไปในป่าแต่เชือกเดียวจะดีกว่า”

            ช้างปาริเลยยกะประสงค์จะถวายภิกษาแก่เหล่าภิกษุ จึงเข้าป่ารวบรวมผลไม้นานาชนิดมากองไว้ เพื่อถวายภิกษุในวันรุ่งขึ้น เช้าวันต่อมา หลังจากเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ ก็เริ่มออกเดินทางกลับ ช้างปาริเลยยกะเดินไปยืนขวางเฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เหล่าภิกษุเห็นเหตุการณ์นั้นจึงทูลถามพระศาสดาว่า ช้างทำอาการเช่นนี้เพราะเหตุใด พระศาสดาตรัสว่าช้างไม่ปรารถนาให้เราไปจากที่นี่

            พระบรมศาสดาตรัสว่า “นี้เป็นการไปไม่กลับของเรา ฌาน วิปัสสนา หรือแม้แต่มรรคผล จะยังไม่มีแก่เธอในอัตภาพนี้ เธอจงหยุดอยู่ก่อนเถิดปาริเลยยกะ” ช้างปาริเลยยกะ เมื่อไม่สามารถจะเหนี่ยวรั้งให้พระองค์อยู่ได้ จึงเดินตามไปส่งจนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ต่อแต่นี้ไปเป็นถิ่นมนุษย์มีอันตรายรอบด้าน ขอเธอจงหยุดอยู่ตรงนี้เถิด” ช้างปาริเลยยกะยืนน้ำตาไหลอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อพระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ลับสายตาไป ก็ถึงแก่กาละล้มลงด้วยความอาลัยยิ่งในพระบรมศาสดา ไปบังเกิดในวิมานทองบนดาวดึงส์เทวโลก ท่ามกลางนางอัปสร ได้นามว่า ปาริเลยยกเทพบุตร

            ภิกษุชาวกรุงโกสัมพีที่ได้สำนึกตนแล้ว ไม่สามารถจะเดินทางตามไปเฝ้าพระพุทธองค์ยังป่าปาริเลยยกะได้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างพรรษากาล ต้องพากันทนทุกข์ทรมานจนตลอดพรรษา ณ วัดโฆสิตารามนั่นเอง ครั้นออกพรรษาได้ทราบว่า พระพุทธองค์เสด็จกลับกรุงสาวัตถี จึงพากันเดินทางตามไป เพื่อขอขมาพระพุทธองค์

            แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขามิคารมารดา ก็เข้าไปกราบทูลถามเช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ท่านจงถวายทานในภิกษุทั้งสองฝ่าย ครั้นถวายทานในภิกษุสองฝ่ายแล้ว จงฟังธรรมในภิกษุสองฝ่าย ภิกษุฝ่ายใดเป็นธรรมวาที ท่านจงพอใจในความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และเชื่อถือในภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น”

            ครั้นเดินทางถึงพระอารามเชตวันภิกษุโกสัมพีเหล่านั้นหมอบกราบลงแทบบาทมูล กล่าวคำยอมรับว่าพวกตนได้ล่วงละเมิดสิกขาบท แล้วกราบทูลขอขมาต่อพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เธอทั้งหลายเป็นบุตรของเรา ชื่อว่าบุตรไม่ควรทำลายโอวาทที่บิดาให้ไว้” แล้วตรัสทีฆีติโกศลชาดก ความย่อว่า “ทีฆาวุกุมารนั้นจับพระเมาลีพระเจ้าพาราณสี ผู้บรรทมหลับอยู่บนตักของตนในป่า เงื้อดาบขึ้นด้วยหมายใจว่าเราจักทำลายชีวิตโจรผู้ฆ่าบิดามารดาของเรา ขณะนั้นระลึกถึงโอวาทที่บิดามารดาให้ไว้ว่า ในกาลไหน ๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงคิดว่า เราไม้จะสละชีวิต ก็จักไม่ทำลายโอวาทของท่าน” ในกาลจบพระคาถา ภิกษุทั้งหลายดำรงอยู่ในอริยผล มีพระโสดาบัน เป็นต้น

            พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้ว ปลงอาบัติแล้ว และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นสงฆ์จงทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น ในสมัยนั้น ชาวเมืองสาวัตถี เมื่อเวลาเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร นำดอกไม้ ของหอม เป็นต้น ไปเพื่อบูชาพระบรมศาสดา แต่ในบางคราวพระพุทธองค์เสด็จจาริกไปตามชนบท เพื่อสงเคราะห์เวไนยสัตว์ ชาวเมืองก็นำเครื่องสักการะบูชาไปวางไว้ที่ประตูพระคันธกุฎี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเห็นเหตุนั้น จึงขอร้องพระอานนท์ให้หาสถานที่ที่ควรสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้ชนทั้งหลายได้วางเครื่องสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ในเวลาที่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร

            พระอานนท์จึงไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า เมื่อพระองค์เสด็จจาริกไป ข้าพระองค์อาจทำเจดีย์ไว้ เพื่อให้ชนทั้งหลายสักการะได้หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่าเจดีย์ มี ๓ ประเภทคือ

            ๑.  ธาตุเจดีย์ สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

            ๒.  บริโภคเจดีย์ คือ สิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย

            ๓.  อุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่พระพุทธรูป คือรูปเหมือนพระพุทธเจ้า

            “อานนท์ ธาตุเจดีย์เธอมิอาจทำได้ เพราะธาตุเจดีย์จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ตถาคตอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ แม้ตถาคตจะยังมีชีวิตอยู่ หรือปรินิพพานแล้ว ก็ถือเป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน สำหรับอุทเทสิกเจดีย์ไม่มีวัตถุปรากฏ (เพราะสมัยนั้นไม่มี)”

            พระอานนท์จึงกราบทูล ขอนำต้นโพธิ์มาปลูกไว้ข้างทางเข้าพระวิหารเชตวัน พระพุทธองค์ทรงเห็นด้วย ตรัสว่า “ดีแล้วอานนท์ เธอทำดังนั้น พระเชตวันก็จักเป็นเสมือนตถาคตประทับอยู่เป็นนิตย์” พระอานนท์จึงกล่าวกับพระโมคคัลลานะว่า “กระผมจักปลูกต้นโพธิ์ข้างทางเข้าพระเชตวัน ขอท่านช่วยนำเมล็ดโพธิ์สุกจากต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มาให้กระผมด้วย”

            พระโมคคัลลานะได้ไปยังโพธิมณฑล เอาจีวรรับลูกโพธิ์สุกที่หล่นจากขั้ว แต่ยังไม่ถึงพื้นดิน นำมาถวายพระอานนท์ เมื่อได้เมล็ดโพธิ์มาแล้ว พระอานนท์ได้ถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงปลูก พระราชาดำริว่า ความเป็นพระราชามิได้ดำรงอยู่ตลอดไป ควรที่จะให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกต้นโพธิ์นี้ จึงวางผลโพธิ์สุกนั้นไว้ในมือของเศรษฐี

            เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีวางเมล็ดโพธิ์ลงในหลุม ก็งอกเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ทันที มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปโดยรอบ พระราชาทรงรดโพธิ์นั้นด้วยน้ำสุคนธรส หลังจากนั้น พระอานนท์กราบทูลขอให้พระบรมศาสดาประทับเข้าสมาบัติ ณ โคนโพธิ์นั้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน พระพุทธองค์ทรงประทับที่โคนโพธิ์นั้น ด้วยความสุขเกิดแต่สมาบัติตลอดราตรีหนึ่ง

 

 

บุคคลในโลก

            ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้า ถวายอภิวาทแล้ว ได้กราบทูลถามข้อสงสัยในเรื่องบุคคลในโลกว่ามีกี่ประเภท พระพุทธองค์ตรัสว่า “มหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าบุคคลในโลกนี้มี ๔ ประเภท” คือ บุคคลผู้มามืดไปมืด ได้แก่ บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ มีความเป็นอยู่อัตคัตขัดสน แม้กระนั้นก็ยังประพฤติทุจริตทั้งกาย วาจา และใจ บุคคลเช่นนี้เมื่อสิ้นชีพแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มามืดไปมืด

            บุคคลผู้มาสว่างไปมืด ได้แก่ บุคคลที่เกิดในตระกูลสูง มีโภคสมบัติมาก แต่กลับประพฤติทุจริตทั้งกาย วาจา และใจ บุคคลเช่นนี้เมื่อสิ้นชีพแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย บุคคลนี้เรียกว่าผ้มาสว่างไปมืด

            บุคคลผู้มามืดไปสว่าง ได้แก่ บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ยากจนข้นแค้น มีความเป็นอยู่ฝืดเคือง แต่มีความประพฤติสุจริต ทั้งกาย วาจา และใจ บุคคลเช่นนี้เมื่อสิ้นชีพแล้ว ย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ด้วยกุศลกรรมของตน บุคคลนี้เรียกว่าผู้มามืดไปสว่าง

            บุคคลผู้มาสว่างไปสว่าง ได้แก่ บุคคลที่เกิดในตระกูลสูง มีโภคสมบัติมาก และยังได้ประพฤติธรรมสุจริตทั้งกาย วาจา และใจ บุคคลเช่นนี้เมื่อสิ้นชีพแล้ว ย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ด้วยกุศลกรรมของตน บุคคลนี้เรียกว่าผู้มาสว่างไปสว่าง

            ระยะนั้น พระสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีมากขึ้น พระคุณของพระบรมศาสดาได้แผ่ไปอย่างกว้างขวาง ลาภสักการะเกิดขึ้นมากมาย ส่วนเหล่าเดียรถีย์กลับเสื่อม จากลาภสักการะ จึงหาอุบายทำให้พระพุทธเจ้าเสื่อมเสีย ในกาลนั้น ในกรุงสาวัตถี มีนางปริพาชิกา ชื่อ นางจิณจมาณวิกา มีความงามเป็นเลิศเหมือนนางเทพอัปสร รับอาสาพวกเดียรถีย์ สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดเหล่าชนทั้งหลาย ด้วยการเดินทาง ออกจากเมืองในเวลาเย็น เมื่อถูกถามว่าจะไปยังที่ใด นางตอบว่า “เราจะไปพระเชตวันวิหาร” แล้วเลยไปพำนักค้างคืนยังสำนักของเดียรถีย์ที่อยู่ใกล้กัน

            ในตอนเช้า อุบาสกอุบาสิกาออกจากพระนครแต่เช้าตรู่ เพื่อไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเชตวัน นางก็ทำทีเหมือนออกจากพระเชตวัน จะเข้าไปสู่พระนคร กาลล่วงไป ๑-๒ เดือน เมื่อถูกถาม นางกล่าวว่าเราอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกับพระสมณโคดม โดยกาลล่วงไปอีก ๓-๔ เดือน นางเอาผ้าพันท้อง ทำเหมือนหญิงมีครรภ์ ล่วงไป ๗-๘ เดือน นางผูกไม้กลมไว้ที่ท้อง ห่มผ้าคลุมทับไว้ เข้าไปยังพระเชตวันวิหาร ในขณะที่พระบรมศาสดากำลังแสดงพระธรรมเทศนา กล่าวว่า “มหาสมณะ พระองค์มุ่งแต่แสดงธรรมแก่มหาชน ส่วนหม่อมฉันอาศัยพระองค์ จนเกิดมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว พระองค์กลับไม่ใส่ใจ” นางได้กล่าวบริภาษพระบรมศาสดาท่ามกลางบริษัทอย่างนี้

            พระพุทธองค์ทรงหยุดธรรมกถา ตรัสว่า “น้องหญิง คำที่เธอกล่าวแล้วจริงเท็จประการใด เราและเธอสองคนเท่านั้นที่รู้” ร้อนถึงท้าวสักกะ ดำริว่า เราจักชำระเรื่องนี้ให้หมดจด จึงรับสั่งให้เทพบุตรองค์หนึ่ง จำแลงร่างเป็นหนูกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ขาด เทพบุตรอีกองค์หนึ่ง บันดาลให้ลมพัดผ้าที่คลุมท้องนั้นปลิวขึ้นมา ท่อนไม้ที่ผูกไว้พลัดตกลงบนหลังเท้าของนางจิญจมาณวิกา หลังเท้าทั้งสองข้างแตก พุทธบริษัทเห็นเช่นนั้น ต่างโกรธแค้นต่อการกระทำของนาง พากันฉุดลากนางออกไปจากพระวิหาร ขณะที่พ้นจากคลองพระเนตรของพระบรมศาสดา แผ่นดินก็แยกออก เปลวไฟพลุ่งขึ้นมาจากอเวจี กลืนร่างนางจิญจมาณวิกาลงสู่มหานรกในทันทีนั่นเอง วันรุ่งขึ้น พวกภิกษุสนทนากันในธรรมสภาว่า นางจิญจมาณวิกาบริภาษพระบรมศาสดาด้วยคำอันไม่จริง จึงถึงความพินาศใหญ่

            พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้ ถึงในกาลก่อนนางจิญจมาณวิกา ก็ถึงความพินาศอย่างนี้เช่นกัน” จึงตรัสมหาปทุมชาดก ในทวาทสกนิบาต

 

 

เศรษฐีตีนแมว

            พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่อ พิฬาลปทกะ (เศรษฐีตีนแมว) ว่าชาวเมืองสาวัตถีได้ถวายทาน เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา พระองค์ตรัสว่า “บุคคลบางคนให้ทานด้วยตน แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เขาย่อมได้โภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว

            บุคคลบางคนไม่ให้ทานด้วยตน ชักชวนแต่ผู้อื่น เขาย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ ในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว

            บุคคลบางคนไม่ให้ทานด้วยตน ไม่ได้ชักชวนผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ ในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว

            บุคคลบางคนให้ทานด้วยตน และชักชวนผู้อื่นด้วย เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ ในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว”

            อุบาสกผู้หนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหมด รับบิณฑบาตของตนในวันรุ่งขึ้น แล้วออกเที่ยวป่าวร้องเพื่อนบ้านให้พร้อมกันมาถวายทาน

            ในที่นั้น เศรษฐีผู้หนึ่งโกรธว่า เหตุใดจึงไม่นิมนต์แค่กำลังของตน ต้องมาชักชวนชาวบ้าน เมื่อจะให้ เศรษฐีเอานิ้วมือเพียง ๓ นิ้ว หยิบข้าวสารและถั่วเป็นต้น แม้เมื่อจะให้เภสัช มีเนยใส และน้ำอ้อย ก็เอียงปากขวดไหลลงทีละหยดได้ให้หน่อยหนึ่งเท่านั้น ด้วยความตระหนี่ เศรษฐีจึงได้ชื่อว่า เศรษฐีตีนแมว

            อุบาสกนั้นได้แยกเอาวัตถุทานของเศรษฐีนี้ไว้ต่างหาก เมื่อเศรษฐีเห็นการกระทำเช่นนี้ จึงส่งคนของตนตามไปดูพฤติกรรมของอุบาสกนั้น เมื่ออุบาสกกลับไปแล้ว ได้นำข้าวสาร ๒-๓ เมล็ด ใส่ลงในส่วนที่จะทำยาคู ภัต และขนมทุกอย่าง คนงานเห็นดังนั้นแล้วกลับมาบอกเศรษฐี ในวันรุ่งขึ้น เศรษฐีนั้นเหน็บกฤชไว้ในระหว่างชายผ้า คิดว่าถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา จักประหารให้ตาย

            ในเวลาถวายทาน อุบาสกนั้นกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชักชวนมหาชนถวายทานนี้ ตามกำลังของแต่ละคน ขอผลอันไพศาล จงมีแก่มหาชนเหล่านั้นทั้งหมด” เศรษฐีได้ฟังคำถวายทานของอุบาสกนั้นแล้ว หมอบลงแทบเท้าของอุบาสกนั้น กล่าวว่า “ขอนายจงอดโทษให้ผมด้วย” แล้วเล่าเรื่องทั้งหมดแก่อุบาสกนั้น

            พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความนั้น ตรัสว่า “บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่าบุญมีประมาณน้อย หม้อน้ำเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ฉันใด ชนผู้มีปัญญาสั่งสมบุญแม้ทีละน้อย ย่อมเต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น”

            ในกาลจบพระธรรมเทศนา เศรษฐีนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนที่มาประชุมกันนั้นทั้งหมด

 

 

พุทธประเพณี

            พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปกติจะทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะอันเป็นพุทธประเพณี ด้วยการตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้หรือพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอยังเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตหรือ เป็นต้น”

            พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งที่ทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสถามในสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

            พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงอบรมภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยการแสดงธรรม ๑ ด้วยการบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย ๑ นี้เป็นพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

 

 

สังฆสภา

            ยามเมื่อดวงสุริยาส่องแสง นาฬิกาบอกเวลาไว้ ๘ โมงเช้าพอดี ถึงหน้าประตูทางเข้าพระเชตวันวิหาร เจ้าหน้าที่ให้การปฏิสันถารด้วยการชี้บอกที่ขายตั๋ว คิดว่าคงเป็นค่าบำรุงสถานที่ ซึ่งรัฐบาลต้องขอสนับสนุนช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของรัฐ พอรายการส่งเงินส่งตั๋วเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเดินเข้าในพระอารามเชตวัน อาณาบริเวณกว้างใหญ่ มองไปทางไหนก็มีแต่ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มเป็นพุ่มเต็มไปหมด

            ชมต้นไม้เรียงรายตามทิวถนน คลุกเคล้าด้วยเสียงนกเสียงกา สายลมแสงแดดได้ไม่เท่าไร ก็ผ่านซากอิฐเรียงตั้งให้เห็นโครงสร้างของอาคาร นั้นคือ หมู่กุฎีใหญ่ เรียกว่า โกสัมภกุฏิ ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สร้าง เหตุที่เรียกว่า โกสัมภกุฏิ ก็เพราะมีต้มโกสัมภะ คือไม้สนชนิดหนึ่งอยู่ข้างหน้า บางท่านบอกว่า เป็นหมู่กุฎีของภิกษุชาวโกสัมพี ที่สร้างความเดือดร้อนให้พระบรมศาสดา จนตัดสินพระทัยไปจำพรรษาที่ปาริไลยกะอยู่กับลิงกับช้าง ยังดีกว่าอยู่กับพวกภิกษุที่แตกความสามัคคี เมื่อภิกษุเหล่านี้ถูกสังคมลงโทษ จึงสำนึกผิด เดินทางมาขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ท่านอนาถบิณฑิกะเห็นว่าผู้สำนึกผิดยังรู้จักขอโทษจึงสร้างกุฏินี่ขึ้น เพื่อรอให้โอกาสการปฏิบัติธรรมแก่กล้า ก็จะสำเร็จมรรคผลในวันข้างหน้าได้

            หมู่กุฎีภิกษุ โกสัมพีและวัชชีบุตร กุฎีพระราหุล กุฎีพระอุบาลีเถระ อีกทั้งโบราณสถานอื่น ๆ อีกมากมายที่ปรากฏในเขตวิหารพระเชตวัน ที่ทางรัฐบาลได้เข้าดูแลรักษาร่มไม้ปกคลุมร่มรื่นเย็นใจ เมื่อได้มาเยือน

            สังฆสภา เป็นที่ตั้งของหอประชุมสงฆ์ เรียกว่า กเรริมณฑลมาฬ มีลักษณะเป็นหอกลมซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สร้างหอประชุมนี้ ในทีฆนิกายกล่าวว่า พระบรมศาสดาเคยเสด็จมาประทับที่นี่ด้วย

 

 

ลูกชายภิกษุณี

            เมื่อมาถึงบริเวณที่เรียกกันว่า สังฆสภา ซึ่งเป็นที่ประชุมสงฆ์ในการบริหารศาสนกิจ และบัญญัติข้อวินัย มีผู้นำความกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงตราเป็นพุทธบัญญัติโดยพระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินคดีความในครั้งนั้นหลายเรื่อง เช่น กรณีมารดาของพระเถระท่านเป็นธิดาเศรษฐี ปรารถนาจะบวชตั้งแต่ยังเป็นสาว แต่ว่าไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา จนกระทั่งแต่งงานไปอยู่กับสามีแล้วมีครรภ์ขึ้นโดยที่นางยังไม่ทราบ แม้สามีเองก็ไม่ทราบ จึงขออนุญาตกับสามีเพื่อจะบวช สามียินดีนำนางไปบวชในสำนักนางภิกษุณีผู้ที่เป็นพวกของพระเทวทัต

            ต่อมาครรภ์ของนางแก่ขึ้น พวกภิกษุณีทั้งหลายรู้เข้า นำความไปบอกกับพระเทวทัต พระเทวทัตสั่งให้ขับเธอออกจากวัด และให้สึกทันที แม้นางจะอ้อนวอนและบอกว่าตนเองไม่ทราบ ตนเองบริสุทธิ์ พระเทวทัตก็ไม่ยอมเชื่อ นางได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระบรมศาสดาทรงทราบดีว่า นางมีครรภ์ตั้งแต่ยังเป็นคฤหัสถ์ แต่เพื่อให้นางบริสุทธิ์สะอาดจริง ๆ จึงได้ให้นางวิสาขาและพระราชามาตรวจ ซึ่งก็เป็นจริงดังที่กล่าว

            เมื่อนางวิสาขาได้ตรวจดูเรียบร้อยแล้ว ก็ทราบว่านางมีครรภ์ตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ นางเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงให้กลับไปอยู่ ณ ที่เดิม ต่อมานางคลอดบุตรมีอานุภาพมาก ซึ่งเคยตั้งความปรารถนาไว้ ณ บาทมูลของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตระ

            ภายหลังวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปใกล้ ๆ สำนักนางภิกษุณี ได้ยินเสียงเด็กร้อง จึงถามพวกมหาดเล็ก เมื่อได้ทรงทราบเช่นนั้น ก็ทรงรับเอาเด็กนั้นไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง พอเติบโตก็ได้นามว่า “กุมารกัสสปะ” และต่อมา กุมารปรารถนาจะบวช ทูลขออนุญาตกับพระราชา พระราชาไม่ขัดข้อง ได้โปรดจัดแจงให้บวชในสำนักของพระบรมศาสดา

            พระกุมารกัสสปะบวชได้ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา วันหนึ่งออกมาเที่ยวบิณฑบาต ได้พบพระเถรีผู้เป็นมารดาของตน นางพอเห็นพระเถระซึ่งตนเฝ้าร่ำไห้อยากเห็นหน้ามาเป็นเวลา ๑๒ ปี ก็รีบวิ่งเข้าไปหา เรียก “ลูกของแม่ ลูกของแม่”

            แต่พระกุมารกัสสปะคิดว่า หากท่านจะทำเป็นอ่อนหวานกับมารดา มารดาก็จักตายไปเสีย จึงได้ทำแกล้งไม่รู้จัก กล่าวขู่มารดา จนมารดาต้องโกรธหนัก คิดว่า “เราไม่สามารถอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ถึง ๑๒ ปี เพราะบุตรคนนี้ แต่ว่าบุตรของเรามีหัวใจกระด้าง ไม่เคยนึกถึงเราเลย เราจะคิดถึงเขาอีกทำไม” ตัดความเสน่หาได้ในวันนั้น และบรรลุพระอรหัตตผล

            ต่อมาอีกไม่กี่วัน พวกภิกษุพากันสนทนาในโรงธรรมว่า พระบรมศาสดามีอุปการะแก่พระเถระและพระเถรีแม่ลูกคู่นี้มากเหลือเกิน เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาตรัสถามเรื่องที่สนทนากัน เมื่อทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า พระองค์มิใช่จะเคยช่วยในครั้งนี้เท่านั้น แม้ครั้งก่อนพระองค์ก็เคยช่วยเหมือนกัน แล้วตรัสนิโครธชาดก ทรงเล่าถึงเนื้อนิโครธเข้าไปช่วยชีวิตเนื้อแม่ลูกอ่อน ซึ่งจะถึงความตายในครั้งนั้นแล้วตรัสว่า

            “ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนอาศัยคนอื่นไม่สามารถจะมีสวรรค์หรือมรรคเป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้ ฉะนั้น ตนนั้นแหละเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นจะทำอะไรได้” แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลมีตนที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลหาได้โดยยาก”

 

 

แดนแห่งพระอรหันต์

            บริเวณวัดเชตวันมหาวิหารจากถนนหลวง จะมีรั้วเหล็กเชื่อมกับประตูเข้า เมื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชม ๕ US $ อีกด้วย จากนั้นค่อยเดินอย่างช้า ๆ ก็จะถึงพระเจดีย์อรหันต์ ๘ ทิศ กุฎีพระมหากัสสปะ กุฎีพระสิวลี กุฎีพระโมคคัลลานะ กุฎีพระองคุลีมาล กุฎีพระอานนท์ กุฎีพระสารีบุตร

            สถูปพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ซึ่งเหลืออยู่แต่ฐาน ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างอื่นยิ่งไปกว่าความสังเวชสลดใจ เห็นซากแห่งความพินาศแล้วทำให้เราเห็นธรรมมากขึ้นทุกทีว่า ร่างกายของเราก็คงแตกสลายไปจากโลกนี้ แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังไม่สามารถหนีความตายไปได้ นับประสาอะไรกับตัวเรา ซึ่งมีชีวิตก็เหมือนกับหยดน้ำหยดหนึ่งปรากฏขึ้นในโลก เมื่อเรารู้สภาพความเป็นจริงเช่นนี้ ทุกคนควรวางรากฐานในชีวิตให้เหมือนกับฐานของสถูปพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ซึ่งแม้ส่วนอื่น ๆ จะพังไปหมดแล้ว ฐานก็ยังคงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ชั่วกาลนาน

            ในบริเวณพระอารามเชตวัน นอกจากจะมีร่มไม้ใบบังที่ร่มรื่น ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เช่น ลิงหน้าขาว ตัวสีเทา หางยาว เหมือนกับว่าสวมหมวกไว้บนหัว บ้างกระโดดไป กระโดดมา บ้างนั่งอยู่ตามซากโบราณสถาน ตามประสาสัตว์ เห็นพวกเราเดินผ่านมา ลิงพวกนี้จะนั่งเฉย ไม่สนใจอะไร คนต่างหากที่กลับไปสนใจลิงว่า พวกนี้มาทำอะไรอยู่ที่นี่

            จากที่ประชุมสงฆ์ หรือที่เรียกกันว่า สังฆสภา ผ่านเจดีย์ทั้ง ๘ กระทั่งถึงกุฎีพระมหากัสสปะ พระอรหันต์ผู้เลิศด้วยปฏิปทาทางธุดงค์ และที่ข้าง ๆ กันนั้นเป็นกุฏิใหญ่นั่นเรียกกันว่า กุฎีพระสีวลี ผู้อุดมด้วยโชคลาภวาสนา ในที่ไม่ไกลนักก็ถึงสถูปอันเป็นที่เคยอาศัยของพระองคุลิมาลกับพระอานนท์ และสถูปทรงกลมเป็นที่ที่พระโมคคัลลานะเคยจำพรรษาอยู่ กับที่ไม่ห่างกันก็เป็นสถูปอันเป็นที่พำนักของพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระสารีบุตร มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมกุฏิพระสีวลี พระสารีบุตร กับพระบรมศาสดา จึงมีขนาดที่พอ ๆ กัน มีผู้แก้ว่า การบริหารงานจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยส่วน ๓ เป็นกำลัง คือ กำลังทรัพย์ ได้แก่ พระสีวลี กำลังสติปัญญา ได้แก่ พระสารีบุตร กำลังบริหาร ได้แก่ พระบรมศาสดา

            ตำนานกล่าวถึงพระสีวลีว่า พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นพระโอรสของพระนางสุปปวาสา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ ปรากฏว่าตั้งแต่ท่านปฏิสนธิในครรภ์ เกิดลาภสักการะแก่พระมารดาเป็นอันมาก ตามตำนานว่าอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี พระมารดาเจ็บพระครรภ์ถึง ๗ วัน ครั้นประสูติแล้วก็ทำกิจการต่าง ๆ ได้ทันที ต่อมาท่านบวชในสำนักของพระสารีบุตร ในวันที่บวช พอมีดโกนตัดกลุ่มผมครั้งที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล ท่านสมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภ และทำให้ลาภเกิดแก่ภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีลาภมาก

 

 

องคุลิมาลสูตร

            ท่านองคุลิมาล จอมโจรผู้กลับใจมาบวช และได้เป็นพระอรหันต์ ในอรรถกถาธรรมบทเล่าว่า องคุลิมาลเป็นผู้มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในพุทธกาล เพราะเป็นนายโจรใหญ่รังควานเส้นทางค้าขายที่มาสู่นครสาวัตถี พระพุทธองค์เสด็จไปกลับใจจอมโจรจนยอมบวช เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรม ทำให้พระบรมศาสดาได้รับความสรรเสริญจากพระเจ้าปเสนทิโกศลและประชาชนว่า ทรงสามารถเอาชนะคนที่ร้ายกาจที่สุดด้วยอานุภาพแห่งความเมตตา

            ในองคุลิมาลสูตรเล่าว่า องคุลิมาลโจรได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ได้มีความดำริว่า “น่าอัศจรรย์จริง ๆ ไม่เคยมีเลย พวกบุรุษสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ก็ยังต้องรวมเป็นพวกเดียวกันเดินทางนี้ แม้บุรุษพวกนั้นยังถึงความพินาศเพราะมือเรา สมณะนี้ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนชะรอยจะมาข่ม ถ้ากระไรเราพึงปลงสมณะเสียจากชีวิตเถิด” ครั้นแล้ว องคุลิมาลโจรถือดาบและโล่ห์ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาคไปทางพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร โดยประการที่องคุลิมาลโจรจะวิ่งจนสุดกำลังก็ไม่อาจทันพระองค์ผู้เสด็จไปตามปกติ

            องคุลิมาลโจรคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีเลยด้วยว่าเมื่อก่อนแม้ช้างกำลังวิ่ง ม้ากำลังวิ่ง รถกำลังแล่น เนื้อกำลังวิ่ง เราก็ยังวิ่งตามจับได้ แต่ว่าวันนี้เราวิ่งจนสุดกำลังยังไม่อาจทันสมณะนี้ซึ่งเดินไปตามปกติได้” ดังนี้ จึงหยุดยืนกล่าวกับพระผู้มีพระภาคว่า “จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด”

 

 

มหาโจรกลับใจ

            ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรดำริว่า สมณศากยบุตรเหล่านั้นมักเป็นคนพูดจริงทำจริง แต่สมณะรูปนี้เดินไปอยู่ กลับพูดว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด ถ้ากระไรเราจะต้องถามสมณะรูปนี้

            ความว่า “สมณะท่านกำลังเดินไปยังกล่าวว่าเราหยุดแล้ว และท่านยังไม่หยุด ยังกล่าวกับข้าพเจ้าผู้หยุดแล้วว่าไม่หยุด ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน ท่านหยุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุดแล้วเป็นอย่างไร

            พระพุทธองค์ตรัสว่า “องคุลิมาล เราวางอาชญาในสรรพสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่าหยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจึงหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด”

            องคุลิมาลโจรกราบทูลว่า “ท่านผู้เทวดามนุษย์บูชาแล้ว แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่มาถึงป่าใหญ่เพื่อจะสงเคราะห์ข้าพเจ้าสิ้นกาลนาน ข้าพเจ้านั้นจักประพฤติละบาป เพราะฟังคาถาอันประกอบด้วยธรรมของท่าน” องคุลิมาลโจรกล่าวดังนี้แล้ว ได้ทิ้งดาบ และอาวุธลงในเหวลึก มีหน้าผาชัน ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระสุคต แล้วได้กราบทูลขอบรรพชากับพระองค์ ณ ที่นั้นเอง ก็แลพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาเอกของโลกกับทั้งเทวโลก ได้ตรัสกับองคุลิมาลโจรในเวลานั้นว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด” อันนี้แหละเป็นภิกษุภาวะขององคุลิมาลโจรนั้น ดังนี้

            วันหนึ่งพระองคุลิมาลออกไปบิณฑบาต ได้พบหญิงคนหนึ่งกำลังเจ็บท้อง ได้รับความทุกข์ทรมานเทียมใจจะขาด เพราะคลอดยาก องคุลิมาลเกิดความสงสารเป็นที่สุด ไม่รู้จะช่วยอย่างไรได้ จึงกลับมาที่พระเชตวันมหาวิหาร และกราบทูลให้พระบรมศาสดาทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงแนะนำองคุลิมาลให้กลับไปช่วยผู้หญิงนั้น โดยให้ตั้งสัจจกิริยาว่า “ตั้งแต่อาตมภาพเกิดมายังไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้ล่วงไปเลย ขออำนาจแห่งความสัจจ์นี้ จงบันดาลให้เธอและลูกในท้องจงสวัสดีเถิด” องคุลิมาลกราบทูลคัดค้านว่า ได้เคยฆ่าคนมามากแล้ว ถ้าไปตั้งสัจจกิริยาเช่นนั้น เกรงว่าจะไม่ได้ผล พระบรมศาสดาจึงทรงอธิบายความหมายของการเกิดขององคุลิมาลว่า หมายถึงเกิดมาในผ้าเหลืองเป็นอริยชาติแล้วต่างหาก องคุลิมาลเห็นจริงจึงกลับไปหาหญิงนั้น แล้วตั้งสัจจกิริยาว่า “ยโตหํ ภิคินี อริยาย ชาติยา ชาโต” เป็นต้น ทันใดนั้นหญิงที่มีครรภ์ผู้นั้นก็คลอดบุตรอย่างง่ายดาย

 

 

พระองคุลิมาล

            วันหนึ่ง ท่านพระองคุลิมาลหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันแล้ว เข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ดังนี้ พระองคุลิมาลได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

            สมัยนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เวลานั้น ก้อนดิน ท่อนไม้ ก้อนกรวด ที่บุคคลขว้างไปแม้โดยทางอื่น ก็มาตกลงที่กายของพระองคุลิมาล ทำให้ท่านศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสกับพระองคุลิมาลว่า “เธอจงอดกลั้นไว้เถิด เธอจงอดกลั้นไว้เถิด เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุจะให้เธอพึงหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดร้อยปีเป็นอันมาก ตลอดพันปีเป็นอันมาก ก็แต่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น”

 

 

ต้นโพธิ์พระอานนท์

            เสียงสวดมนต์ภาษาบาลี “โพธิรุกฺขํ เจติยํ สพฺพเมโท” ควันธูปคละคลุ้งเปลวเทียนสาดแสง แม้ไม่แรงเทียบเท่ากับความสว่างของพระอาทิตย์ แต่ก็ให้ความหมายที่โชติช่วงจากใจของผู้ที่กำลังสาธยายมนต์ในชุดสีขาวล้วน เดินเข้าไปใกล้ ๆ ค่อยรู้ว่าเป็นชาวพุทธลังกากำลังสวดมนต์กันอยู่ มีฝรั่งสองสามคนนั่งสมาธิ หลับตานิ่ง แบบไม่สนใจโลกภายนอก และดูเหมือนจะเป็นสามเณรชาวอินเดีย เดินหาเก็บใบโพธิ์กันอยู่

            สถานที่นี้เรียกกันว่า อานันทโพธิ หรือต้นโพธิ์พระอานนท์ เป็นอนุสรณ์ยิ่งใหญ่ที่พุทธบริษัทจะพึงถวายสักการะ โดยนัยที่ปรากฏในกาลลิงคโพธิชาดกว่า ได้มีการนำเมล็ดโพธิ์จากต้นที่ทรงตรัสรู้ มาปลูกไว้ที่พระเชตวันมหาวิหารในนครสาวัตถี ซึ่งเป็นการเริ่มขยายพันธุ์โพธิ์ตรัสรู้ไปในที่ต่าง ๆ ของโลก

            ในวรรณคดีโบราณของลังกา ชื่อ ปูชาวลิยะ กล่าวว่า เมื่อสิ้นฤดูฝน คือ ออกพรรษาแล้ว พระพุทธองค์เสด็จจาริกท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ เพื่อเทศนาเผยแผ่พระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบ เหล่าพุทธบริษัทที่เคยมาเข้าเฝ้าฟังพระธรรมเทศนา ในระหว่างเข้าพรรษาอยู่เสมอ เมื่อออกพรรษาแล้วมาไม่พบ ก็จะนำเครื่องสักการะทั้งหลายไปไว้ที่หน้ามหาคันธกุฎีของพระพุทธองค์

            อนาถบิณฑิกเศรษฐีตระหนักในศรัทธาของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย จึงได้ปรารภกับพระอานนท์ว่า ระหว่างที่พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปในที่อื่น ๆ ชาวเมืองสาวัตถีนำเครื่องสักการะบูชามาน้อมระลึกพระพุทธองค์ ก็ไม่รู้จะยึดเหนี่ยวอะไรเป็นที่ตั้ง พระอานนท์จึงเข้าไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ถึงสถานที่อันจะเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพในระหว่างที่พระองค์มิได้ประทับอยู่ในพระวิหารนี้

            พระพุทธองค์ตรัสถึงสิ่งอันควรระลึกถึงมี ๓ คือ ของในร่างกาย ๑ เครื่องใช้สอย ๑ และรูปเคารพ ๑ พระอานนท์กราบทูลถามว่า “ในระหว่างที่พระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพนี้ จะสร้างปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถานขึ้น เป็นที่รำลึกถึงพระองค์ได้หรือไม่” พระพุทธองค์ตรัสว่า ยังไม่ควร ควรทำต่อเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ส่วนรูปเคารพก็ไม่ควรจะทำในเวลานี้เหมือนกัน ครั้นแล้วพระพุทธองค์ทรงแนะนำว่า “ต้นโพธิ์ซึ่งเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นเอง ที่ควรแก่การถือเอาเป็นที่น้อมจิตระลึกถึง ไม่ว่าจะเป็นไม้ที่ยืนต้นอยู่หรือตายแล้ว ก็ควรแก่การนี้ทั้งสิ้น” ด้วยเหตุนี้ พระอานนท์จึงกราบทูลขออนุญาตที่จะไปนำเมล็ดโพธิ์จากต้นตรัสรู้ มาปลูกไว้ที่หน้าประตูทางเข้ามหาวิหาร พระพุทธองค์ประทานพระพุทธานุญาต

            พระอานนท์จึงนำความมาแจ้งแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขา กราบทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์แห่งสาวัตถีให้ทรงทราบด้วย พร้อมกับขอให้พระโมคคัลลานะไปนำเมล็ดโพธิ์จากต้นตรัสรู้ พระโมคคัลลานะก็ไปนำมาด้วยฤทธิ์โดยใช้จีวรรองรับลูกโพธิ์ที่หล่นจากต้น นำกลับไปมอบให้พระอานนท์ ทีแรกประสงค์จะให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเพาะเมล็ดและปลูกเอง แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยอ้างว่า การเป็นราชามหากษัตริย์เป็นของไม่เที่ยง หาควรที่จะได้รับเกียรติยศอันนี้ไม่ และทรงแนะนำว่า บุคคลที่คู่ควรแก่เกียรติยศที่จะเป็นผู้เพาะเมล็ดโพธิ์ครั้งแรกนี้ คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงจัดพิธีเพาะเมล็ดโพธิ์ลงที่หน้าประตูมหาวิหาร พระพุทธองค์เสด็จมาในงานนี้ และทรงเข้าสมาธิที่ตรงนั้นทั้งคืน ต้นโพธิ์ต้นนั้นในปัจจุบันนี้ เรียกกันว่า โพธิ์พระอานนท์

 

 

มหามูลคันธกุฎี

            พระบรมศาสดาโปรดเมืองนี้มาก ประทับอยู่ที่อาณาจักรโกศล ถึงปลายพระชนม์ชีพนับได้ ๒๕ พรรษา คือ ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ที่ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีสร้างถวาย ๑๙ พรรษา และประทับอยู่ที่วัดบุพพาราม ที่นางวิสาขาอุบาสิกา สร้างถวาย และที่อื่น ๆ ๖ พรรษา ใกล้ ๆ กันนั้นเป็นกุฎีพระอานนท์ หมู่กุฎีของพระอสีติมหาสาวก ที่เสด็จเดินจงกรม

            สถานที่แห่งนี้เป็นที่ที่ชาวพุทธให้ความสำคัญอย่างมาก คือ เป็นซากมหาคันธกุฎีที่พระพุทธเจ้าประทับ ซึ่งได้รับการบูรณะให้พอเห็นภาพของเดิมที่ประทับของพระบรมพระศาสดาที่กว้างขวางกว่ามูลคันธกุฎีที่ยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ประมาณ ๒ เท่า ที่นี่จึงเรียกว่า มหามูลคันธกุฎี

            การสร้างรูปของชาวพุทธเพื่อให้มีความหมายถึงพระบรมศาสดา คือ สร้างรูปช้าง หมายถึงการปฏิสนธิในครรภ์ของพระพุทธมารดา รูปวัว หมายถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนประสูติ รูปม้า หมายถึงการเสด็จออกบวช รูปสิงห์โต หมายถึง ความยิ่งใหญ่ในหมู่ศากยวงศ์ รูปต้นโพธิ์ หมายถึงการตรัสรู้ รูปล้อธรรมจักร หมายถึงการแสดงปฐมเทศนา สมัยก่อนไม่มีใครคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้น เกรงว่าจะเป็นการไม่เคารพ และไม่ครบบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๔๐๐ พวกกรีกเข้ามารุกรานอินเดียจึงนำเอาคติสร้างรูปเคารพมาสอนคนอินเดียด้วย นั่นแหละจึงเริ่มมีพระพุทธรูปขึ้นกราบไหว้กัน

            หลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้ว่า เมื่อมาถึงที่นี่ ชาวบ้านมีการเคารพในลัทธิต่าง ๆ อยู่ ๙๖ ลัทธิ แต่ละลัทธิมีลูกศิษย์ลูกหาบริบูรณ์ บุคคลในลัทธิต่าง ๆ เหล่านี้เที่ยวขอทานอาหารมากิน แต่ไม่ใช้บาตร เขาได้สร้างโรงทานไว้ริมถนนเพื่อเป็นที่พักคนเดินทาง มีอาหารน้ำ และที่นอนไว้พอ ใครไปใครมาก็จะได้พัก

ศาลาโรงธรรม

            ซากศาลาโรงธรรมใหญ่ หน้ามหามูลคันธกุฎียังเหลือซากแท่นอิฐใหญ่ เป็นที่ประทับของพระบรมพระศาสดาในเวลาแสดงธรรม ท่านอูอาสยะ เรียกว่า อสุรเทวดา หมายถึงที่ประชุมชนทุกเหล่าที่มาฟังพระธรรมเทศนา พระบรมพระศาสดาแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท ณ พระเชตวันมหาวิหารนี้ รวมทั้งสิ้น ๘๔๔ พระสูตร ทรงแสดงที่ปุพพาราม ๒๓ สูตร ตรัสสอนที่อื่นบริเวณเมืองสาวัตถี ๔ สูตร รวม ๘๗๑ สูตร คือ อยู่ในสังยุตตนิกาย ๗๓๖ สูตร อยู่ในมัชฌิมนิกาย ๗๕ สูตร อยู่ในอังคุตตรนิกาย ๕๔ สูตร อยู่ในทีฆนิกาย ๖ สูตร

            ในสุตตนิบาตเล่าว่า พราหมณ์อัคคิกะภารัทวาช ร้องตวาดพระพุทธองค์แต่ไกลว่า “ยืนอยู่นั่น เจ้าหัวโล้น คนนอกวรรณะ” นอกจากนั้นยังจ้างหญิงแพศยาให้ไปทำลายชื่อเสียงของพระพุทธองค์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง พวกเดียรถีย์จ้างนางจิณจมาณวิกา สาวงามให้เข้าไปทำพิรุธในพระเชตวันมหาวิหาร นางจิณจมาณวิกาได้ป่าวร้องขึ้นในท่ามกลางพุทธบริษัทที่มาประชุมฟังพระธรรมเทศนาในศาลาโรงธรรมว่า เธอมีครรภ์กับพระพุทธองค์ โดยผูกไม้กลมไว้ที่ท้องคลุมผ้ามิดคล้ายหญิงมีครรภ์ แต่เผอิญกลแตกเพราะ ไม้กลมนั้นหลุดออกมา ขณะนั้นพุทธบริษัทได้เห็นมายาของนางจิณจมาณวิกาชัดแจ้ง จึงช่วยกันทุบตีขับไล่นางออกจากวัด พอออกมาพ้นเขตพระเชตวันมหาวิหาร นางจิณจมาณวิกาก็ถูกธรณีสูบไปสู่อเวจี

 

 

ปฏาจาราเถรี

            ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ เล่าว่า นางปฏาจาราเถรี เดิมทีเป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถี บิดามารดารักถนอมเป็นอย่างยิ่ง นางได้เกิดความรักใคร่กับคนใช้ แล้วลักลอบหนีไปอยู่ด้วยกันในดงป่าใหญ่ ต่อมาไม่นานนักนางได้รับวิปโยคทุกข์อย่างหนัก เนื่องจากสามี ลูก พ่อแม่พี่น้องตายหมด ในเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝันอันเกิดขึ้นฉับพลันทันทีและติดต่อกัน ถึงกับทำให้นางเสียสติ ปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินบ่นเพ้อไปในที่ต่าง ๆ จนถึงพระเชตวัน ชนที่นั่งฟังธรรมอยู่นั้นเห็นนางเข้าก็ร้องกันเซ็งแซ่ว่า “คนบ้า คนบ้า” พระบรมศาสดาทรงแผ่เมตตา เปล่งพระวาจาให้นางกลับได้สติ

            เมื่อนางได้สติกลับมา และเกิดหิริโอตตัปปะ รู้ว่าตนเองไม่ได้นุ่งห่มผ้าผ่อนปิดบังความอาย ขณะนั้นบุรุษคนหนึ่งจึงนำผ้ามาให้นางห่ม เมื่อเรียบร้อยแล้ว นางจึงเข้าไปกราบถวายบังคมแทบพระบาทของพระพุทธองค์แล้วกราบทูลว่า “ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันด้วยเถิด เพราะว่าบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันเหยี่ยวได้เฉี่ยวเอาไป บุตรอีกคนหนึ่งก็ถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายในกลางทาง มารดาบิดาและพี่ชายถูกรเรือนพังทับตาย และถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า”

            พระพุทธเจ้าเมื่อสดับความในใจของนางปฏาจาราแล้ว พระองค์จึงได้ตักเตือนให้เลิกคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย แล้วทรงแสดง “อนมตัคคปริยายสูตร คือ เรื่องสงสารไม่มีที่สิ้นสุด” โดยมีนัยว่าน้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย, น้ำตาของคนผู้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ไม่ใช่น้อย มากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น, เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่า? แม้ด้วยอมตวาจานี้ จึงทำให้นางมีความเศร้าโศกอันเบาบางลง แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันส่งผลให้นางได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วขอบวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหันต์ เพราะพิจารณาสายน้ำที่ตักล้างเท้า ๓ สาย เปรียบได้กับการดับชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย นางได้เป็นมหาสาวิกาองค์หนึ่งที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทรงพระวินัย และได้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ภิกษุณีหลายรูป

 

 

เมืองโบราณสาวัตถี

            สาวัตถีมองภาพรวมเหมือนเมืองร้างทั่ว ๆ ไป เพราะเหลือแต่ซากกำแพงเมืองที่ก่ออิฐถือปูนสูงใหญ่ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม ลักษณะรูปร่างเกือบคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีก เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณเกือบ ๒ ไมล์ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือสร้างขนานไปกับแม่น้ำอจิรวดี มีป้อมตั้งอยู่ ๔ ทิศ แต่ละป้อมสูงใหญ่ ป้อมทางตะวันตก สูงระหว่าง ๓๕ - ๔๐ ฟุต รอบเมืองสาวัตถีมีคูเมืองขุดไปทะลุแม่น้ำอจิรวดี

            เมื่อหลวงจีนถังซัมจั๋งมาถึง ยังเห็นกำแพงวังหลวง ยาวประมาณ ๒๐ ลี้ หรือเกือบ ๔ ไมล์ ท่านคงเห็นกำแพงเมืองเป็นกำแพงวัง แต่ท่านฟาเหียนจดไว้สั้น ๆ ว่า เมืองนี้กำลังจะเป็นเมืองร้าง มีคนอยู่ประมาณ ๒๐๐ ครัวเรือนเท่านั้น เมื่อพระถังซัมจั๋งมาถึง บันทึกไว้ว่ามีแต่สิ่งปรักหักพัง มีคนเหลืออยู่ไม่มาก ปลูกผักเต็มไปหมด อากาศเย็นสบายดี ชาวบ้านมีนิสัยซื่อและใจดี เคร่งศาสนา มีนักบวชอยู่บ้าง

            หลวงจีนฟาเหียนยังได้บันทึกไว้อีกว่า ในนครสาวัตถี มีสถูปที่สร้างขึ้น ณ ซากวิหารของพระนางมหาปชาบดีองค์หนึ่ง ที่ซากบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีองค์หนึ่ง กับที่ซึ่งองคุลิมาลสำเร็จพระอรหัตตผล อันเป็นที่เผาศพองคุลิมาลด้วยอีกองค์หนึ่ง พวกพราหมณ์ในเมืองนี้ริษยาอนุสรณ์ของพระพุทธศาสนาเหล่านี้ และคิดจะทำลายสถูปเหล่านี้ให้หมด แต่ฟ้าลั่นและผ่าลงมาเสียก่อน พวกพราหมณ์จึงทำการไม่สำเร็จ สถูปที่กล่าวเหล่านี้ เมื่อหลวงจีนถังซัมจั๋งมาถึงที่นี่ ยังเหลืออยู่ทันเห็น

             พระราชวังพระเจ้าปเสนทิโกศล บ้านท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี บ้านปุโรหิตาจารย์ (บิดาขององคุลิมาล) พระเชตวันมหาวิหาร และเจดีย์สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ ยังคงเหลือซากไว้ให้เราได้ปลงธรรมสังเวชเท่านั้น โดยเฉพาะวัดบุพพารามและโลหะปราสาทนั้นไม่เหลือซากไว้ให้เห็น นัยว่าถูกแม่น้ำอจิรวดีพัดพังไปหมดแล้ว แม่น้ำสายนี้เองที่เคยกลืนเอาชีวิตของพระเจ้าวิฑูฑภะและไพร่พลให้จมน้ำตาย หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพไปฆ่าฟันล้างโครตพวกเจ้าศากยะเสียสิ้น

            ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรมให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น และนางปฏาจาราผู้บูชาความรักเป็นอมตะ ต้นหวานปลายขม คู่รักตายเพราะอสรพิษ อุ้มลูกน้อยฝ่าพายุฝนกลับกรุงสาวัตถี สู่อ้อมกอดเศรษฐีบิดามารดา ลูกรักผู้น้อง ถูกเหยี่ยวใหญ่คาบไปเป็นอาหาร ส่วนลูกผู้พี่ ถูกแม่น้ำอจิรวดีนี้กลืนกิน จนเป็นเหตุให้นางต้องเสียสติเดินเข้าเขตวัดด้วยร่างไร้ผ้าห่มคลุม “อจิรวดี” เดี๋ยวนี้ยังไหลเรื่อยเอื่อยเป็นทางยาว แม้ล่วงเลยมาแล้วถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว

 

 

มัลลิการาม

            วัดของปริพาชกที่พระนางมัลลิกาเทวีสร้างไว้ ครั้งหนึ่งมีข่าวใหญ่ที่สร้างความตะลึง แก่ชาวสาวัตถียิ่งนัก คือ พราหมณ์อุคคตสรีระ ประกาศเลิกฆ่าสัตว์บูชายัญ หันมารับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสรณะที่พึงที่ระลึกชั่วชีวิต ในนครสาวัตถีเป็นที่ที่ปริพาชกมีอิทธิพลคุมพื้นที่ เนื่องจากมัลลิกาเทวีมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลเลื่อมใสอยู่ ถึงกับสร้างอารามไว้แห่งหนึ่ง

            ในมัชฌิมนิกายกล่าวว่า พระบรมพระศาสดาและพระสาวกได้ไปเยี่ยมพวกปริพาชกถึงสำนักของเขา และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางหลักวิชากันเสมอ จนกระทั่งเปลี่ยนใจพวกปริพาชกใหญ่ ๆ ได้หลายคน เช่น เวขนัสสะ ผู้ตั้งคณะพราหมณ์ปริพาชก โปฐาปท เป็นต้น

            มัลลิกาเทวีเอง ตอนหลังก็เปลี่ยนใจมารับนับถือพระพุทธศาสนา และพลอยพาให้พระเจ้าปเสนทินับถือพระพุทธศาสนาไปด้วย ก่อนหน้านั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลสนับสนุนศาสนาเชนและศาสนาพราหมณ์ ทั้งมีส่วนได้ร่วงรังแกการเผยแผ่พระสัทธรรมของพระบรมศาสดาด้วย เช่น เรื่องของนางจิณจมาณวิกา และนางสุนทริกา เกิดก่อนที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะนับถือพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาโปรดให้พระสารีบุตรไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อขอความเป็นธรรมจากบ้านเมือง ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลละอายพระทัย ไม่กล้ารังแกพระบรมศาสดาอีกต่อไป

            ในอรรถกถาธรรมบทมีเรื่องเล่าถึงสาเหตุที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเปลี่ยนใจมานับถือพระพุทธศาสนาว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดปฏิพัทธ์ในภรรยาของราษฎรคนหนึ่ง จึงรับเอาราษฎรคนนั้นมาเป็นมหาดเล็ก แล้วจะหาเรื่องฆ่า เพื่อจะได้หญิงคนนั้นมาเป็นภรรยา ราษฎรผู้นั้นรู้ตัวก็รีบไปบวชหลีกหนีราชภัย คืนนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ยินเสียงร้อง ๔ เสียงรับกันเป็นทอด ๆ ว่า ทุ…สะ…นะ…โส… อย่างนี้ทั้งคืน ทรงตกพระทัย นอนไม่หลับ เช้าขึ้นจึงปรึกษาพราหมณ์ประจำราชสำนักว่าทีเสียงประหลาดในยามดึก เกรงจะเกิดอวมงคล พราหมณ์ปุโรหิต ซึ่งถนัดแต่เรื่องฆ่าสัตว์บูชายัญ จึงกราบทูลให้จัดการบูชายัญขนานใหญ่ หาไม่แล้วจะเกิดอาเพศต่อพระราชบัลลังก์ และมหาภัยต่อบ้านเมือง แต่มัลลิกาเทวีกลับแนะนำให้ไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา จึงได้รับรสแห่งพระธรรม ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเอนเอียงมานับถือพระพุทธศาสนา และทำให้อาณาจักรโกศลเป็นอาณาจักรแห่งพระพุทธศาสนา

 

 

บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

            จากกำแพงวัดเชตวันมหาวิหารไม่ไกลนัก ก็จะเข้าสู่เมืองสาวัตถีโบราณ มีถนนตัดผ่านป่าละเมาะที่เคยเป็นตลาดของชาววัง ที่เหล่าสนมกำนัลในออกมาจับจ่ายแลกเปลี่ยนสิ่งของกันในยามเย็น ๆ บริเวณนี้เคยพลุกพล่านด้วยข้าราชบริพารน้อยใหญ่ มาบัดนี้เหลือเพียงป่าที่ขึ้นทับบนอิฐซ้อนอยู่ใต้ดิน มีสตรีชาวบ้านหาเก็บกิ่งไม้แห้ง กับใบไม้ที่ร่วงหล่นกับพื้น บ้างก็มัดเข้าเป็นฟ่อน ยกขึ้นเทินหัว เดินกลับบ้านเหมือนนาฏลีลาบนถนนหลวง ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เอง

            ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นสถูปใหญ่อันเป็นที่ตั้งของบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี องคมนตรี ที่ปรึกษาสายเศรษฐกิจของพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้สร้างพระอารามเชตวันมหาวิหาร ยังเหลือเพียงร่องรอยแห่งอดีตที่ซุกซ่อนไว้ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ก้อนอิฐที่เรียงเป็นชั้นปรักหักพังเหล่านี้เอง เป็นอนุสาวรีย์ที่เก็บข้อมูลไว้ให้เราผู้เป็นอนุชนได้ศึกษาถึงบทบาทของนักธุรกิจตัวอย่างในครั้งพุทธกาล

            อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกคนสำคัญในสมัยพุทธกาล บังเกิดในเรือนของสมุนเศรษฐีเดิมที่ชื่อ สุทัตต์ เป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า สร้างวัดพระเชตวันถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทับจำพรรษารวมทั้งหมดถึง ๑๙ พรรษา ท่านอนาถบิณฑิก นอกจากจะอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงได้ชื่อว่าอนาถบิณฑิก ซึ่งแปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา หรือเศรษฐีขวัญใจคนจน ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหมู่ทายกฝ่ายอุบาสก

 

 

อนาถบิณฑิกเศรษฐี

            อนาถบิณฑิกะ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล เมื่อถือกำเนิด บิดาขนานนามว่า สุทัตตะ เหตุที่ได้ชื่อ อนาถบิณฑิกะ เพราะเป็นผู้ชอบทำทานแก่คนยากจน อันเป็นนามที่ตนปรารถนาได้แต่อดีตชาติ เมื่อบิดาสิ้นชีวิตก็ได้ครอบครองทรัพย์สมบัติเป็นคหบดีสืบแทนต่อมา ภรรยาของอนาถบิณฑิกะ ชื่อ นางปุณณลักขณะ มีบุตรชายคนเดียว คือ กาฬะ มีธิดา ๓ คน ชื่อ มหาสุภัททา จูฬสุภัททา และสุมนาเทวี

            ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวว่า ภรรยาของอนาถบิณฑิกเศรษฐีชื่อปุญญลักขณา ซึ่งเป็นน้องสาวของราชคหเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ผู้ให้สร้างวิหาร ๖๐ หลังเสร็จภายในหนึ่งวัน แล้วถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในทิศทั้ง ๔  ขณะเดียวกันนี้น้องสาวของอนาถบัณฑิกเศรษฐี ก็ได้แต่งงานกับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้สร้างวิหาร ๖๐ หลังดังกล่าว

            ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่สีตวัน เสด็จลุกขึ้นจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีกำลังเดินมา จึงเสด็จจากที่จงกรมมาประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้พร้อมทั้งตรัสว่า “มาเถิด สุทัตตะ” ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจเป็นอย่างมากว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกชื่อเรา” จากนั้นจึงเดินตรงไปเฝ้าพร้อมทั้งซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทแล้วกราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคประทับอยู่เป็นสุขดีหรือ พระพุทธเจ้าข้า” พระองค์ได้ตรัสว่า :- “พราหมณ์ผู้ดับกิเลสแล้วย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ ผู้ไม่ติดอยู่ในกาม เป็นคนเยือกเย็น ไม่มีอุปธิกิเลส ตัดกิเลสเครื่องข้องทุกอย่างแล้ว กำจัดความกระวนกระวายในใจ เข้าถึงความสงบย่อมอยู่เป็นสุข”

            ต่อจากนั้นพระองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ซึ่งว่าด้วยเรื่องทานกถา (เรื่องทาน) สีลกถา (เรื่องศีล) สัคคกถา (เรื่องสวรรค์) กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม) และเนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) จากนั้นทรงแสดงสามุกกังสิกธรรมเทศนา ซึ่งว่าด้วยอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดอนาถบิณฑิกเศรษฐี จนได้บรรลุโสดาปัตติผล อนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ได้ประกาศตนเป็นอุบาสกขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต

            เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีเดินทางถึงกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ก็เริ่มพิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างอารามไว้ต้อนรับเสด็จพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ในที่สุดก็ได้กราบทูลติดต่อขอซื้อพระอุทยานของเจ้าเชตกุมาร จากนั้นจึงดำเนินการสร้างวัดพระเชตวันจนแล้วเสร็จครบบริบูรณ์อันประกอบด้วย การสร้างบริเวณ ซุ้มประตู ศาลา หอฉัน โรงไฟ กัปปิยกุฎี วัจจกุฎี ที่จงกรม โรงจงกรม บ่อน้ำ ศาลาบ่อน้ำ เรือนไฟ ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี มณฑปฯ เหมาะสมแก่การต้อนรับเสด็จพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทุกประการ โดยอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์เป็นค่าก่อสร้างพระเชตวันมหาวิหาร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ และพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่จำพรรษาที่พระเชตวันแห่งนี้เป็นเวลา ๑๙ พรรษา

            พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ตามความพอพระทัยแล้ว เสด็จไปกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี ตามคำอาราธนาของเจ้าลิจฉวีมหาลิ แล้วเสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์ ประมาณปลายพรรษาที่ ๒ ต้นพรรษาที่ ๓ การก่อสร้างวิหารก็สำเร็จเรียบร้อย ขนานนามว่า เชตวันวิหาร เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชตผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ในที่ทุกแห่งจึงกล่าวเรียกว่า พระเชตวันวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

            อนาถบิณฑิกเศรษฐี ส่งตัวแทนไปอาราธนาพระบรมศาสดา เพื่อมารับถวายพระเชตวันวิหาร พร้อมกันนั้นก็จัดเตรียมพิธีอย่างมโหฬารยิ่ง มีการถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ ภายในเรือนก็จัดเตรียมทาน และไทยธรรมจำนวนมากเป็นประจำทุกวัน

            เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึง อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์ให้เข้าไปในวิหาร เมื่อพระพุทธองค์ประทับนั่งยังพุทธอาสน์แล้ว อนาถบิณฑิกะ กราบทูลถามว่า “จะให้ข้าพระองค์ปฏิบัติต่อพระวิหารนี้เช่นไร” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงถวายแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ที่มาจากทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา”

            อนาถบิณฑิกะจึงนำเต้าน้ำทองคำมาหลั่งน้ำลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า กล่าวคำอุทิศว่า “ข้าพระองค์ขอถวายเชตวันวิหารนี้ แด่พระพุทธองค์และบรรดาสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้ว และยังไม่มา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอนุโมทนา ได้ตรัสอานิสงส์ของการถวายวิหารว่า “เสนาสนะย่อมป้องกัน ความร้อน หนาว ลม และแดด ย่อมบรรเทาไป นอกจากนั้น ยังป้องกันสัตว์ร้าย น้ำค้าง และฝน การถวายวิหารเพื่อเป็นที่พำนักของสงฆ์ เพื่อเป็นที่เร้นอยู่ เพื่อเพ่งพิจารณา เพื่อเห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ บัณฑิตเมื่อเห็นประโยชน์ตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูตพำนักเถิด พึงถวายข้าว น้ำ ผ้า และคิลานเภสัชแก่ท่านเหล่านั้น เมื่อท่านรู้แจ้งธรรมอันใดแล้ว ท่านยอมแสดงธรรมนั้น มหาชนจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ เข้าถึงพระนิพพาน” เสร็จแล้วทำการฉลองพระเชตวันวิหาร นานถึง ๙ เดือน สิ้นทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบริจาคทรัพย์ทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ เพื่อพระศาสนา พระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ระยะหนึ่งจึงเสด็จกลับกรุงราชคฤห์

            จึงเป็นอันสรุปความได้ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกผู้ยิ่งใหญ่ โดยพระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านว่า “เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวกทั้งหลายของเรา ผู้ยินดียิ่งในการถวายทาน” นอกจากนี้ชื่อและอารามของท่านยังถูกนำมากล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องสั้นบ้าง ยาวบ้าง ไม่น้อยกว่า ๒๗ เล่ม และเมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นอนาถบิณฑิกเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต

บ้านปุโรหิตบิดาองคุลิมาล

            สถานที่ใกล้กับอนุสรณ์บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นสถูปที่กล่าวกันว่าเป็นที่พักอาศัยในตำแหน่งปุโรหิตของบิดาอหิงสกกุมาร หรือองคุลิมาล จอมโจรบัณฑิตผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้โลกลือ และองค์พระอรหันต์อัครสาวกที่จารึกไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา

            ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวว่า องคุลิมาลเป็นอรหันตสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เดิมชื่ออหิงสกะ หมายถึงกุมารผู้ไม่เบียดเบียน เป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี แห่งนครสาวัตถี (โคตรของบิดา คือ คัคคะ โคตรของมารดา คือ มันตานี) เคยเป็นมหาโจรโด่งดัง ด้วยว่าไปศึกษาศิลปศาสตร์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักกสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เมื่อศิษย์ร่วมสำนักเกิดริษยา ยุให้อาจารย์กำจัดเสีย ด้วยอุบายลวงให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพัน แล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ บัณฑิตหนุ่มแห่งกรุงสาวัตถีจึงกลายเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ เที่ยวตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้วมาร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล แปลว่ามีนิ้วเป็นมาลัย ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล ท่านเป็นต้นแห่งพระพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

 

 

ภัททวัคคีย์

            ในพรรษานี้ภิกษุภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป ล้วนถือการอยู่ป่าและบิณฑบาตเป็นวัตร พากันเดินทางมายังกรุงสาวัตถี เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แต่เพราะเป็นเวลาจวนเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางมาให้ทัน จึงต้องจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ประมาณ ๗ โยชน์

            สมัยนั้น ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อกลับจากบิณฑบาต ฉันภัตตาหารแล้ว นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนากันถึงเรื่องต่าง ๆ อันเป็นดิรัจฉานกถา (เรื่องที่สมณะไม่ควรพูด) ด้วยเสียงอันดัง คือ พูดถึงพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องชนบท เรื่องนคร เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องดื่มสุรา เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ เรื่องความเสื่อม เรื่องคนกล้าหาญ และเรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

            พระพุทธองค์ตรัสว่า “ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรที่ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย” แล้วตรัสกถาวัตถุ คือ เรื่องที่ควรพูด ๘ ประการ ว่าพวกเธอพึงกล่าวแต่ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถน้อย ๑ ชักนำให้สันโดษ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ๑ ชักนำให้เกิดความสงบ ๑ ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล ๑ ชักนำให้มีจิตตั้งมั่น ๑ ชักนำให้เกิดปัญญา ๑ ชักนำให้ยินดีในการหลุดพ้นจากกิเลส ๑ ชักนำให้เกิดความรู้ถึงผลดีของการละกิเลส ๑

            กถาวัตถุทั้ง ๘ ประการนี้ เมื่อนำมาสนทนากัน ย่อมก่อให้เกิดกุศลธรรมมากขึ้น ทั้งทางกาย วาจา และใจ

 

 

สถูปยมกปาฏิหาริย์

            สถูปขนาดใหญ่ที่เหลือเป็นเพียงเนินดิน มองดูสูงกว่าที่ใด ๆ ในนครสาวัตถี อยู่ข้างทางระหว่างเมืองพาลัมปุระ กับเมืองสราวัสสติ นับจากพระเชตวันมหาวิหารประมาณ ๒ กม.ครึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า สวนมะม่วงของคัณฑกะ สันนิษฐานว่าสถานที่นี้คือ ที่ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์

            ในอรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ว่า สมัยนั้น ในกรุงสาวัตถี ลาภสักการะอันเคยบริบูรณ์แก่เหล่าเดียรถีย์ ได้เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ เพราะมหาชนหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น เป็นเหตุให้พวกเดียรถีย์หาทางทำลายพระพุทธศาสนาทุกวิถีทาง พวกเดียรถีย์มีความเห็นพ้องกันว่า สาเหตุเพราะสำนักของพระสมณโคดมเป็นทำเลที่ดี การคมนาคมสะดวกแก่เหล่าชนที่จะไปฟังธรรม ลาภสักการะจึงเกิดแก่พระสมณโคดมมากมาย เหล่าเดียรถีย์จึงคิดสร้างสำนักของตนขึ้น ณ หลังพระเชตวันวิหาร ได้นำเครื่องบรรณาการไปถวายแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างสำนักของตน

            ขณะดำเนินการก่อสร้าง พระพุทธองค์ทรงดำริว่า การนี้อาจเป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนาในอนาคต จึงให้พระอานนท์ไปทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล

            พระเจ้าปเสนทิโกศล ปฏิเสธไม่ยอมให้เข้าพบ ไม่ว่าจะเป็นพระอานนท์ พระสารีบุตร หรือ พระโมคคัลลานะ พระบรมศาสดาจึงต้องเสด็จไปด้วยพระองค์เอง พระพุทธองค์เสด็จไปแล้วไม่ตรัสถามความใด แต่ทรงยก ภรุชาดก เป็นอุทาหรณ์ว่า “ในอดีตมี นักบวช ๒ จำพวก พำนักอยู่ ณ โคนต้นไทร พวกหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือ พวกหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ ต่อมาต้นไทรทางทิศใต้เกิดเหี่ยวแห้งตายหมด จึงอพยพไปทางทิศเหนือ ประสงค์จะไปอยู่ ณ ที่นั้น เกิดทะเลาะกับพวกที่อยู่ก่อน เพราะการแย่งที่พำนัก จึงพากันไปให้พระราชาแห่งกรุงภรุตัดสิน นักบวชฝ่ายหนึ่งได้ถวายเรือสำหรับเป็นราชพาหนะแก่ภรุราชา

            พระราชาตัดสินให้ฝ่ายที่มอบเรือเป็นผู้ชนะ ด้วยความลำเอียงทำให้เทวดาที่อยู่ในภรุรัฐทั้งสิ้นโกรธ เพราะเหตุที่พระราชาทำให้ผู้มีศีลทะเลาะกันด้วยอำนาจแห่งฉันทาคติ เทวดาจึงบันดาลให้เมืองภรุจมลงไปใต้ทะเล ประสบความพินาศอย่างใหญ่หลวง ล่มจมลงทั้งแว่นแคว้น”

            พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับดังนั้น จึงมีรับสั่งให้ขับนักบวชเหล่านั้นออกไป แล้วทรงสร้างที่นั้นให้เป็นอารามสำหรับภิกษุณี พระราชทานนามว่า ราชการาม กรุงสาวัตถีจึงมีอารามเกิดขึ้นใกล้พระเชตวันวิหารด้วยเหตุนี้

            พระพุทธองค์เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี รับสั่งกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ณ ชานกรุงสาวัตถี ในวันเพ็ญ เดือน ๘

            พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ต่อคำท้าทายของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ ซึ่งเป็นการแสดงครั้งสำคัญ และครั้งสุดท้ายของพระบรมศาสดา ทำให้ประชาชนชาวเมืองสาวัตถีเกิดความตื่นเต้นในอภินิหารของพระบรมศาสดา และทำให้ลัทธิศาสนาอื่น ๆ ในนครสาวัตถีเสื่อมลงไป ใคร ๆ ก็พากันหันมาสนใจกับพระพุทธศาสนามากขึ้น และด้วยเหตุนี้เองที่ทำพวกเดียรถีย์นิครนถ์ต้องจ้างนางจิณจมาณวิกาไปทำลายชื่อเสียงของพระบรมศาสดา

            พระพุทธองค์ไม่โปรดการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงห้ามมิให้ภิกษุแสดงปาฏิหาริย์อีกด้วย แต่พระองค์โปรดการแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ ให้เห็นอิทธิฤทธิ์ของพระธรรมมากกว่า เหตุที่พระบรมศาสดาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี ก็เพราะเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาองค์ก่อน ๆ เคยมาแสดงยมกปาฏิหาริย์มาแล้วอย่างหนึ่ง

            อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากพวกเดียรถีร์นิครนถ์ฉวยโอกาสที่พระพุทธองค์ห้ามสาวกมิให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ จึงท้าทายพระบรมศาสดาให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เป็นการแข่ง จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงประกาศว่าจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ในที่ใกล้นครสาวัตถีในวันเพ็ญเดือน ๘ พวกเดียรถีย์นิครนถ์รู้เข้าก็หาทางกลั่นแกล้ง เช่น พอรู้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่ใกล้ไม้คัณฑามพฤกษ์ คือ ต้นมะม่วง ก็เที่ยวหาซื้อและขุดทิ้งหมด ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อนายอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อคัณฑกะ สอยมะม่วงในอุทยานติดมือไปผลหนึ่ง เมื่อได้เฝ้าพระพุทธองค์กลางทาง จึงถวายมะม่วงผลนั้น พระพุทธองค์เสวยเนื้อมะม่วงแล้ว ให้นายคัณฑกะเพาะเมล็ดลงในดิน ทรงล้างพระหัตถ์รดลงบนเมล็ดมะม่วงนั้น ทันใดนั้นก็เกิดต้นมะม่วงงามสูง ๕ ศอก ออกลูกติดต้น ใครมาก็ได้กินทั่วกันเป็นอัศจรรย์

            เวลานั้นประชาชนมาชุมนุมรอดูปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์อย่างหนาแน่น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์คู่ เช่น ทำให้ไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องบน น้ำพลุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง ไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า น้ำพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง ไฟพลุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย น้ำพลุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา น้ำพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา น้ำพลุ่งออกจากพระกรรณซ้าย ซึ่งพวกเดียรถีย์นิครนถ์ไม่มีปัญญาทำได้เลย ต้องแตกพ่ายแพ้ไปอย่างไม่เป็นท่า

            หลวงจีนบันทึกว่าได้เห็นสถูปหลายองค์ด้วยกัน องค์หนึ่งเข้าใจว่าจะเป็นองค์นี้ที่หลวงจีนว่า พระเจ้าอโศกทรงสร้างเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงสร้างหลักศิลาไว้หลังหนึ่งด้วย หลวงจีนเล่าเรื่องอัศจรรย์ในสมัยนั้นว่า ที่สถูปนี้มักจะมีเสียงดนตรีสวรรค์บรรเลง บางทีก็มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปหมด

            เมื่อพระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก เพื่อเทศนาโปรดพุทธมารดาตามประเพณีของพระพุทธองค์ก่อน ๆ และทรงจำพรรษา ๑ พรรษาบนดาวดึงส์ เมื่อใกล้จะออกพรรษาทรงทราบว่า พระสารีบุตรอัครสาวกไปจำพรรษาอยู่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๓๐ โยชน์ จึงทรงตกลงพระทัยเสด็จจากดาวดึงส์ไปลงที่สังกัสสะ ในวันออกพรรษาเทโวโรหณะนั้นเอง

 

 

บุพพาราม

            บุพพารามเป็นมหาวิหารแห่งที่สองของนครสาวัตถี เคยมีผู้ชี้ให้ดูบอกว่านี้คือวัดบุพพาราม ซึ่งต้องเดินลัดเลาะตามทุ่งนาเลียบฝั่งแม่น้ำอจิรวดีไปประมาณ ๓ กม. บางท่านบอกว่าน่าจะเป็นบริเวณเมืองอโยธยาในปัจจุบัน ขณะนี้ก็ยังคอยความชัดเจนกว่านั้นก่อน จึงขอกล่าวเนื้อหาตามที่อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ว่า นางวิสาขาผู้เป็นลูกสาวธนญชัยเศรษฐี และเป็นภรรยาของปุณณวัฒนะเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เธอนับถือพุทธศาสนา แต่สกุลสามีนับถือศาสนาชิน เมื่อแต่งงานแล้วได้ชักชวนสกุลของสามีเข้ามานับถือพระพุทธศาสนากันหมด

            วันหนึ่งเธอไปฟังธรรมแล้วทำเครื่องประดับอันมีค่ายิ่ง ชื่อ มหาลดา หรือ เมรปลันทนา หล่นหายในศาลาโรงธรรม กลับมาจึงรู้ตัวให้นางทาสีกลับไปหา ก็พบเครื่องประดับนั้นที่ศาลาโรงธรรม ซึ่งพระอานนท์เก็บไว้ ทำให้นางคิดทำกุศลใหญ่ขายเครื่องประดับของเธอ แต่ราคาแพงจนไม่มีใครกล้าสู้ราคาได้ เธอจึงซื้อเองด้วยราคา ๙ โกฏิกหาปณะ และใช้เงินก้อนนั้นสร้างพระอารามขึ้นทางทิศตะวันออกของนครสาวัตถี ให้ชื่อว่า บุพพาราม แปลว่า อารามด้านทิศตะวันออกตามชื่อของป่านั้น

            การที่เธอเลือกสร้างพระอารามขึ้นที่บุพพาราม ก็เพราะเป็นที่ที่พระบรมศาสดาโปรดปราน เสด็จไปประทับภายหลังจากได้มาเสวยที่เรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างสำเร็จแล้วพระพุทธองค์เสด็จประทับที่บุพพารามถึง ๓ พรรษา

            ในตำนานกล่าวว่า พระโมคคัลลานะเป็นผู้กำกับการก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ ได้ทำเป็นโลหะปราสาท ๒ ชั้น ชั้นบนมี ๕๐๐ ห้อง ชั้นล่างมี ๕๐๐ ห้อง ใช้เวลาสร้าง ๙ เดือนก็แล้วเสร็จ โลหะปราสาทของนางวิสาขานี้ เป็นแบบอย่างที่มีการสร้างขึ้นในพุทธศาสนาในกาลต่อมาอีก ๒ แห่ง คือ ที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา และที่วัดราชนัดดา ประเทศไทย

            พระพุทธองค์โปรดประทับที่บุพพารามในบางโอกาส คือ ถ้าประทับที่พระเชตวันมหาวิหารเวลากลางวัน พระองค์จะเสด็จไปประทับที่บุพพารามในเวลากลางคืน ในบุพพารามนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงพระสูตรต่าง ๆ ไว้หลายพระสูตร เช่น อัคคัญญสูตร ในทีฆนิกาย อุฏฐนสูตร ในสุตตนิบาต อริยปริเยสณสูตร คณกโมคคัลลานสูตร ในมัชฌิมนิกาย ปาสาทกัมปนสูตร ในสังยุตนิกาย เป็นต้น

            เมื่อหลวงจีนฟาเหียนมาถึงที่นี่ ยังได้ทันเห็นซากบุพพารามของนางวิสาขา สำหรับที่พระเชตวันวิหาร หลวงจีนฟาเหียนบอกว่า ได้เห็นสถูปมากมายสร้างขึ้นไว้ ณ ที่ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาบ้าง ที่ซึ่งพระบรมศาสดาประทับบ้าง ที่ซึ่งพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมบ้าง แม้ที่ซึ่งนางสุนทริกาถูกฆ่าก็ยังมีสถูปสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย

            บุพพารามเป็นอุทยานนอกกรุงสาวัตถี ทางด้านทิศตะวันออก มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏรายละเอียดหลักฐาน มีเพียงว่าบุพพารามเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถ หลังจากเสวยภัตตาหารในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วเป็นประจำ

            ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์รับสั่งให้สามเณรรูปหนึ่ง คือ สุมนะ ไปตักน้ำจากสระอโนดาต มาใช้รักษาโรคของพระอนุรุทธะซึ่งอาพาธอยู่ ต่อมาหลังจากนางวิสาขาลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ไว้ในพระเชตวันมหาวิหาร และทราบว่าพระอานนท์จับต้องห่อเครื่องประดับ เนื่องจากเก็บรักษาไว้จนกว่าผู้เป็นเจ้าของจะมารับคืน นางจึงไม่ยอมนำเครื่องประดับนั้นมาใช้อีก ได้ประกาศขาย แต่ไม่มีผู้ใดสามารถจะซื้อได้ นางจึงซื้อคืนเอง ด้วยเงิน ๙ โกฏิ แล้วนำเงินนั้นไปซื้อที่ส่วนหนึ่งของอุทยานบุพพาราม เพื่อสร้างปราสาทถวาย ตามคำแนะนำของพระพุทธองค์

            มิคารมาตุปราสาท เป็นปราสาทที่นางวิสาขาสร้างถวาย ด้วยเงินจำนวน ๙ โกฏิ ขณะอยู่ในระหว่างก่อสร้าง พระพุทธองค์ตรัสให้พระโมคคัลลานะและภิกษุอีก ๕๐๐ รูป เป็นผู้ให้คำแนะนำ ลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องพำนักชั้นละ ๕๐๐ ห้อง บนหลังคาปราสาท สร้างที่เก็บน้ำทำด้วยทองคำ เก็บน้ำได้ ๖๐ ถัง เมื่อแล้วเสร็จ นางทำการฉลองสิ้นเงินอีก ๙ โกฏิ

            เรื่องนางวิสาขาสร้างมิคารมาตุปราสาท ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสร้างประมาณพรรษาใด จากการเทียบเคียง ระยะเวลาในพรรษาที่ ๕ ที่พระพุทธองค์เสด็จไปภัททิยนคร แคว้นอังคะ เพื่อโปรดตระกูลของนางให้ได้บรรลุโสดาบัน และโปรดภัททชิ หลานชายเมณฑกเศรษฐีให้บรรลุพระอรหัตตผลนั้น นางเพิ่งมีอายุเพียง ๗ ขวบ จากนั้นครอบครัวของนางอันมีธนัญชัยเศรษฐีผู้บิดา นางสุมนาเทวีมารดา และตัวนาง พร้อมทั้งเหล่าบริวาร ก็ได้ย้ายหลักแหล่งมาพำนัก ณ เมืองสาเกต ตามพระประสงค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศล ต่อมาเมื่อนางมีอายุ ๑๖ ปี จึงมีครอบครัว หลังจากนางมีบุตรแล้ว ขณะไปฟังพระธรรมเทศนาที่พระเชตวันมหาวิหาร นางลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ไว้ในวิหาร แสดงว่าอย่างน้อยในเวลานั้น นางคงมีอายุประมาณ ๒๑ ปีแล้ว ๑๔ ปีให้หลัง จากวันที่นางบรรลุโสดาบัน นางจึงเริ่มก่อสร้างปราสาท คาดว่าคงอยู่ในระหว่างพรรษาที่ ๑๙–๒๐

 

 

วิสาขามหาอุบาสิกา

            เป็นชื่อของมหาอุบาสิกาคนสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี และนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศล แล้วได้สมรสกับ นายปุณณวัฒน์ บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาของสามีซึ่งนับถือนิครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา (มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ให้ขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมาย ล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาทายิกาทั้งปวง

            พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล ได้เสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธรัฐ แห่งแคว้นมคธ พร้อมทั้งทูลขอให้พระราชทานเศรษฐีคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้ไปตั้งถิ่นฐานประกอบธุรกิจอยู่ประจำที่แคว้นของพระองค์ ทั้งนี้เพราะที่แคว้นมคธนั้นมีเศรษฐีที่มีทรัพย์นับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ ท่าน คือ โชติยเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี (เศรษฐีผู้มีอยู่แคว้นอังคะ ซึ่งขณะนั้นแคว้นอังคะเป็นเมืองขึ้นของแคว้นมคธ) ปุณณกเศรษฐี และกากวัลลิยเศรษฐี

            พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธรัฐ ทรงตัดสินพระทัยลำบากมาก เพราะถ้าทรงตัดสินให้ตระกูลของเศรษฐีผู้ใดไป ก็จะได้รับความกระทบกระเทือนทั่วแคว้นมคธ แต่ในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยส่งธนัญชัยเศรษฐีให้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานประกอบธุรกิจอยู่ประจำที่แคว้นโกศลต่อไป

            พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลลาพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธรัฐ แล้วจากนั้นทรงนำธนัญชัยเศรษฐีพร้อมด้วยภรรยาและธิดา ตลอดจนบริวารและทรัพย์สินเงินทอง ออกเดินทางสู่แคว้นโกศล แต่ในขณะที่เดินทางไปถึงเขตแดนต่อกันระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นโกศล ธนัญชัยเศรษฐีก็ได้ทูลถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ระยะทางจากนี้ไปถึงกรุงสาวัตถีไกลเพียงไร” ซึ่งพระองค์ก็ตรัสตอบว่า “๗ ประโยชน์” (๑๑๒ กิโลเมตร)

            เมื่อได้ทราบเช่นนี้ ธนัญชัยเศรษฐีจึงทูลว่า “ภายในกรุงสาวัตถีคงจะคับแคบ ไม่สะดวกที่ข้าพระองค์จะสร้างบ้านเรือนให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าทาสบริวารเป็นจำนวนมากได้ ถ้าพระองค์จะมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าพระองค์สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตรงเขตแดนต่อกันระหว่างแคว้นโกศลกับแคว้นมคธ ก็จะเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่ข้าพระองค์และครอบครัว ตลอดจนข้าทาสบริวารทั้งมวล” ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลก็โปรดให้สร้างเมืองชายแดนติดต่อกันระหว่างแคว้นโกศลกับแคว้นมคธ และพระราชทานนามว่า เมืองสาเกต เพื่อให้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของธนัญชัยเศรษฐีดังกล่าวแล้ว

            ในขณะที่เจริญวัยได้ ๑๕–๑๖ ปี ปรากฏว่าวิสาขาเป็นหญิงสาวที่เพียบพร้อมด้วยความงาม ๕ ประการ คือ ผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม และริมฝีปากงาม และในปีเดียวกันนี้ นางก็ได้เข้าสู่พิธีมงคลสมรสกับชายหนุ่ม ชื่อว่า ปุณณวัฒนกุมาร ผู้เป็นบุตรของมิคารเศรษฐี แห่งกรุงสาวัตถี และก่อนที่จะออกเดินทางไปอยู่ที่บ้านของสามี ธนัญชัยเศรษฐีผู้เป็นบิดาได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อ แก่เธอว่า

            ๑.  ไฟในอย่านำออก                   ๒.  ไฟนอกอย่านำเข้า

            ๓.  พึงให้ทานแก่บุคคลที่ให้                      ๔.  ไม่พึงให้แก่บุคคลที่ไม่ให้

            ๕.  พึงให้ทานแก่บุคคลที่ให้และไม่ให้        ๖.  พึงนั่งให้เป็นสุข

            ๗.  พึงบริโภคให้เป็นสุข              ๘.  พึงนอนให้เป็นสุข

            ๙.  พึงบำเรอให้เป็นสุข                  ๑๐.  พึงนอบน้อมเทวดา

            เมื่อนางวิสาขาเดินทางไปอยู่กับสามีที่บ้านของมิคารเศรษฐีภายในกรุงสาวัตถีแล้ว ปรากฏว่าเธอไม่ได้รับความสะดวกหลายประการ โดยเฉพาะคือไม่มีโอกาสได้ทำบุญหรือฟังธรรมเลย เพราะตระกูลของมิคารเศรษฐีนั้นนับถือนักบวชชีเปลือยหรืออเจลก พร้อมทั้งพยายามจะให้เธอทำบุญแก่นักบวชชีเปลือยเท่านั้น นอกจากนี้ยังพยายามจับผิดเธออยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

            แต่นางวิสาขาก็พยายามหาโอกาสกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาเสวยภัตตาหารที่บ้านจนได้ แม้มิคารเศรษฐีจะไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่รู้จะขัดขวางอย่างไร และในวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดมิคารเศรษฐีจนได้บรรลุโสดาปัตติผล ซึ่งในทันทีที่บรรลุโสดาปัตติผลนั้นเอง มิคารเศรษฐีก็ได้เลิกชายเสื้อของนางวิสาขาดูดนมของนางเหมือนทารกดูดนมของมารดา พร้อมทั้งบอกแก่นางวิสาขาว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอนางจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า” ดังนี้นางวิสาขาจึงได้นามว่า “วิสาขามิคารมารดา” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

            เมื่อมิคารเศรษฐีได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว นางวิสาขามิคารมารดาก็ได้รับความสะดวกในการทำบุญกุศลทุกอย่าง โดยได้บริจาคทรัพย์จำนวน ๒๗ โกฏิ สร้างวัดบุพพารามขึ้นที่กรุงสาวัตถี ถวายภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่จำพรรษา ณ วัดบุพพาราม เป็นเวลา ๖ พรรษา นอกจากนี้นางยังได้ถวายการอุปถัมภ์บำรุงภิกษุสงฆ์เป็นประจำมิได้ขาด โดยไปวัดแต่ละครั้งจะถือของควรเคี้ยวควรฉันไปถวายภิกษุสงฆ์ทุกครั้ง จนภิกษุสงฆ์ถึงกับพูดกันว่า นางไม่เคยมาวัดมือเปล่าเลย และด้วยการประพฤติตนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในการอุปถัมภ์บำรุงภิกษุสงฆ์ การสร้างวัดและกิจกรรมอื่น ๆ ดังกล่าวนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องนางวิสาขามิคารมารดาว่า “เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาสาวิกาทั้งหลายผู้ยินดียิ่งในการถวายทาน”

            ต่อมาวันหนึ่ง นางวิสาขามิคารมารดาได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้าน ครั้นรุ่งเช้าเมฆฝนตั้งเค้าและตกลงมาอย่างทั่วถึงในทวีปทั้ง ๔ คือ ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุในพระเชตวันสรงน้ำฝนดังกล่าวได้ ภิกษุทั้งหลายจึงพากันเปลือยกายสรงน้ำฝนกันทั้งพระเชตวันวิหาร

            ในขณะเดียวกันนั้น นางวิสาขามิคารมารดาได้สั่งสาวใช้ให้ไปเรียนภิกษุสงฆ์ที่พระเชตวันวิหารว่า “ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว” แต่เมื่อสาวใช้ไปที่พระเชตวัน เห็นภิกษุเปลือยกายสรงน้ำฝนอยู่ก็คิดว่าเป็นพวกอาชีวกอาบน้ำฝน จึงกลับมาบอกแก่นางวิสาขามิคารมารดาว่า “ไม่มีภิกษุอยู่ในอารามเลย มีแต่พวกอาชีวกกำลังอาบน้ำฝนอยู่”

            นางวิสาขามิคารมารดาคิดว่า “สาวใช้คงไปเห็นภิกษุเปลือยกายสรงน้ำฝนอยู่ จึงคิดว่าเป็นพวกอาชีวกกำลังอาบน้ำฝน” นางจึงบอกแก่สาวใช้อีกว่า “เธอจงไปที่พระเชตวัน แล้วเรียนภิกษุทั้งหลายว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว” สาวใช้จึงกลับไปที่พระเชตวันวิหารอีกครั้ง แต่คราวนี้กลับพบเห็นอารามว่างเปล่า ไม่เห็นภิกษุแม้แต่รูปเดียว สาวใช้จึงกลับมาบอกให้นางทราบอีก

            นางวิสาขามิคารมารดาคิดว่า “พวกพระคุณเจ้าคงจะสรงน้ำฝนจนหนาวแล้ว นุ่งห่มผ้าถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ของตน ๆ เมื่อสาวใช้ไปที่พระอารามเชตวันแล้วจึงไม่พบเห็นภิกษุแม้แต่รูปเดียว” นางจึงส่งสาวใช้ให้ไปที่พระเชตวันอีก เพื่อเรียนเรื่องภัตตาหารเสร็จแล้ว ซึ่งในขณะนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาสั่งให้เตรียมบาตรและจีวร ด้วยถึงเวลาภัตตาหารแล้ว จากนั้นพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จึงเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของนางวิสาขามิคารมารดา

 

 

ที่แผ่นดินสูบ

            ในที่ใกล้ประตูทางออกวัดพระเชตวัน ซึ่งไม่ห่างกันนักกับที่จอดรถข้างวัดพม่าในปัจจุบัน มีบ่อน้ำแห่งหนึ่งที่กล่าวกันว่าเป็นที่ซึ่งแผ่นดินสูบพระเทวทัต เมื่อบั้นปลายชีวิต เมื่อครั้งเดินทางมาเพื่อจะไปเฝ้าพระพุทธองค์

            ด้านตะวันออกเฉียงใต้จากวัดศรีลังกา จะเป็นบ่อน้ำที่มีมาแต่โบราณ กล่าวกันว่า นั่นคืออนุสรณ์ของนางจิณจมาณวิกา ที่ถูกแผ่นดินสูบในครั้งที่สร้างบาป กล่าวตู่พระบรมศาสดา จนแผ่นดินไม่อาจรับไว้ได้ ต้องแยกออก ส่งให้นางจิณจมาณวิกาไปสู่อเวจีตามกำลังบาปที่สร้างไว้

            ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา กล่าวถึงผู้ที่ตายด้วยถูกธรณีสูบมี ๕ คนด้วยกัน ในจำนวนนั้นเหตุเกิดที่นครสาวัตถี ตายด้วยธรณีสูบถึง ๔ คน คือ

            ๑.  พระเทวทัต  ๒.  นางจิณจมาณวิกา  ๓.  พระเจ้าสุปปพุทธะ  ๔.  นันทมานพ

            สระน้ำใหญ่มองเห็นได้จากถนน ไม่ห่างจากวัดชาวพุทธพม่าในที่นั้นเป็นท้องนา มีสระใหญ่กลางนาซึ่งมีน้ำเต็ม มีความสำคัญในพระพุทธประวัติมาก เป็นที่ธรณีสูบพระเทวทัตดิ่งลงสู่อเวจีนรก แต่ถึงอย่างไรในอรรถกถาธรรมบทกล่าวว่าจะได้เกิดเป็นพระปัจเจกพุทธะชื่อ อัฏฐิสสร สระน้ำพระเทวทัตแห่งนี้ พวกฮินดูแถวนี้ถือว่าเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ มีขุมทรัพย์อยู่ข้างใต้ ทุกปีในเดือนมิถุนายน เขาจะมาอาบน้ำที่สระนี้ เป็นการเอิกเกริก มีการเลี้ยงพราหมณ์ และทำอามิสบูชาด้วยดอกไม้ตามพิธีพราหมณ์

            เรื่องเกี่ยวกับพระเทวทัต หลวงจีนฟาเหียน กับ หลวงจีนถังซัมจั๋ง บันทึกไว้แตกต่างกับที่ปรากฏในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทว่า พระเทวทัตสำนึกในความผิดที่ได้คิดร้ายต่อพระบรมพระศาสดา จึงมาเข้าเฝ้าเพื่อขอลุแก่โทษ แต่หลวงจีนฟาเหียนว่าพระเทวทัตตามมาที่นี่เพื่อสังหารพระบรมศาสดาให้จงได้ จึงได้ใส่ยาพิษไว้ที่เล็บมือ แต่ถูกธรณีสูบไปเสียก่อนจึงทำการไม่สำเร็จ ส่วนหลวงจีนถังซัมจั๋งได้อธิบายเพิ่มว่า เมื่อใส่ยาพิษไว้ที่เล็บมือแล้ว ก็กะการจะสังหารพระบรมพระศาสดาในขณะที่เข้าเฝ้าถวายความเคารพ

            สระคนบาปทั้งชายหญิงที่แผ่นดินสูบพระเทวทัตและนางจิณจมาณวิกา ใครให้ร้ายพระผู้บริสุทธิ์ ใครทำลายพระผู้ทรงเมตตาต่อชาวโลกอย่างหาประมาณมิได้ แม้ธรณีก็ไม่สามารถจะรองรับน้ำหนักแห่งบาปของเขาไว้ได้

 

 

สังกัสสนคร

            เป็นที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ หลังจากที่เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ด้วยพระอภิธรรม เจ็ดคัมภีร์ เป็นเวลา ๓ เดือน ต่อเมื่อวันมหาปวารณาจึงเสด็จลงสู่มนุสสโลก ในที่ใกล้กับประตูเมืองสังกัสสะ ท่ามกลางเทพ พรหม แวดล้อมเป็นบริวาร และได้ตรัสเทศนาในปโรสหัสสชาดกอีกด้วย

            สังกัสสะ เคยเป็นเมืองใหญ่ ฐานที่มั่นแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาในอินเดีย เมื่อถึงคราวเสื่อมสูญ เมืองจึงกลายเป็นป่าในที่สุด ยิ่งเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๗๒๖ (ค.ศ.๑๑๘๓) พวกพราหมณ์พากันยุยงราชาไชยจันทร์ แห่งเมืองกาเนาช์ว่า พระพุทธศาสนาเป็นภัยต่อฮินดู ขืนปล่อยไว้บ้านเมืองจะต้องวิปริต ราชาไชยจันทร์จึงกรีฑาทัพมาทำลายล้างเสียราบเรียบ สังกัสสะจึงกลายเป็นทุ่งโล่ง

            หลวงจีนถังซัมจั๋ง เดินทางมาที่นี้ ได้พบเสาหินพระเจ้าอโศก สูงประมาณ ๗๐ ฟุต อยู่ข้างพระวิหาร มีกำแพงยาว ๕๐ ฟุต เป็นที่พระบรมศาสดาเสด็จเดินจงกรม มีรูปเครื่องหมายดอกบัวอยู่บนกำแพง อย่างเดียวกับที่เมืองพุทธคยา

            ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (Sir Alexander Cunningham) ได้ศึกษาจากบันทึกจดหมายเหตุของหลวงจีนทั้งสองท่าน ที่เดินทางมาสืบพระศาสนาในอินเดียนั้น จึงได้สำรวจโบราณสถานสังกัสสะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ.๑๘๔๒) ได้พบซากวิหาร กำแพงพระพุทธปฏิมากร และเสาหินพระเจ้าอโศก ซึ่งส่วนบนเป็นรูปช้าง ได้ถูกทำลายลงเหลือแต่คอเท่านั้น

            ปัจจุบันสังกัสสนคร ยังเหลือเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลดูแลรักษาอยู่ ตั้งอยู่ในเขตปกครองของ อำเภอฟาร์รุกขบาด รัฐอุตตรประเทศ อยู่ระหว่างเมืองลักเนาว์ กับเมืองอัคระ ห่างจากเมืองกานปุร์ ไป ๙๗ ไมล์ มีเนินดินเหมือนสถูปเก่ากับเสาศิลาจารึกของจักรพรรดิอโศกอยู่ที่นั้น ผู้มีความสนใจใฝ่รู้ ก็สามารถเดินทางไปสู่สถานนี้ได้ด้วยความสะดวก

            ขณะที่พระบรมศาสดาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์อยู่ที่กรุงสาวัตถีนั้น ทรงดำริว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต หลังจากทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว จักอยู่จำพรรษา ณ ที่ใด ทรงทราบว่าจำพรรษาในดาวดึงส์พิภพ เพื่อตรัสแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

            เมื่อพระพุทธองค์แสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จแล้ว ได้เสด็จขึ้นไปยังดาวดึงส์พิภพ ท้าวสักกะเทวราชทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จมาต้อนรับพร้อมด้วยหมู่เทวดาทั้งหลาย พวกมหาชนที่ติดตามมา ได้ทราบจากพระอนุรุทธะว่า พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปยังภพดาวดึงส์ และจักประทับอยู่ตลอดพรรษา มหาชนจึงพากันตั้งที่พำนักคอยอยู่ ณ ที่นั้น พระบรมศาสดาได้ตรัสสั่งพระโมคคัลลานะไว้ก่อนว่า เธอพึงแสดงธรรมแก่บริษัทนั้น จุลอนาถบิณฑิกะจักให้เครื่องอุปโภคบริโภคแก่ชนเหล่านั้นทุกวันเวลาทั้ง เช้าเย็น ตลอดไตรมาส

            พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ ท่ามกลางเทวบริษัท พระพุทธมารดาเสด็จลงมาจากวิมานชั้นดุสิต

            พระบรมศาสดาตรัสแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ คือ ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน ทรงเริ่มตั้งพระอภิธรรมว่า กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อพฺยากตา ธมฺมา ดังนี้เป็นต้น

            พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรม โปรดพระพุทธมารดา โดยนัยนี้เรื่อยไปตลอดพรรษา ในเวลาบิณฑบาต พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพุทธนิรมิต ทรงอธิษฐานว่าพระพุทธนิรมิต จงแสดงธรรมชื่อนี้ ๆ จนกว่าเราจะกลับมา แล้วเสด็จไปป่าหิมพานต์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลดา บ้วนพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต นำบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีป ประทับนั่งกระทำภิตกิจในโรงทานกว้างใหญ่ พระสารีบุตรกระทำวัตรปฏิบัติแก่พระบรมศาสดาในที่นั้น

            ครั้นเสร็จภัตกิจ รับสั่งกับพระสารีบุตรว่า “วันนี้เราภาษิตธรรมคัมภีร์นี้แก่พระพุทธมารดา เธอจงบอกธรรมนั้นแก่นิสิต ๕๐๐ ของเธอ” แล้วเสด็จกลับไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมต่อจากพระพุทธนิรมิตแสดง

            ส่วนพระสารีบุตรกลับไปแสดงธรรมนั้นแก่ศิษย์ของท่านเช่นนี้ทุกวันตลอดไตรมาส ภิกษุนิสิต ๕๐๐ เหล่านั้น เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จอยู่ในเทวโลก ได้เป็นผู้ชำนาญในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ในพรรษานั้นกว่าภิกษุทั้งปวง

            ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ภิกษุเหล่านั้นเป็นค้างคาวอาศัยอยู่ที่เงื้อมผาแห่งหนึ่ง ได้ฟังพระเถระ ๒ รูป เดินจงกรมแล้วท่องพระอภิธรรมอยู่ ค้างคาวเหล่านั้นไม่รู้ว่าเหล่านี้ชื่อว่าขันธ์ เหล่านี้ชื่อธาตุ เพียงแต่ถือเอานิมิตในเสียงนั้นเป็นสำคัญ จุติจากอัตภาพนั้นเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว บังเกิดในเรือนตระกูลของชาวกรุงสาวัตถี ได้เห็นพระพุทธองค์ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ มีความเลื่อมใส ขอบวชในสำนักของพระสารีบุตร ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ ดังนี้

            พระบรมศาสดาทรงแสดงพระอภิธรรมโดยทำนองนั้นตลอดไตรมาส ในกาลจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดามากมาย พระพุทธมารดาได้ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล

            ครั้นใกล้เวลาจะออกพรรษา บริษัททั้งหลายที่คอยเฝ้ารับเสด็จอยู่ตลอดเป็นเวลา ๓ เดือน ได้ขอให้พระโมคคัลลานะขึ้นไปกราบทูลถามวันเสด็จกลับลงมา กล่าวว่าพวกข้าพเจ้าทั้งหลายไม่เห็นพระบรมศาสดาแล้วจักไม่ไปจากที่นี้ พระโมคคัลลานะขึ้นไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า “พระองค์จักเสด็จลงเมื่อใด พระเจ้าข้า”

            พระพุทธองค์รับสั่งถามถึงพระสารีบุตร ทรงทราบว่าอยู่ที่สังกัสสนคร จึงตรัสกับท่านพระโมคคัลลานะว่า ในวันที่ ๗ จากนี้ เราจักลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ ในวันมหาปวารณา ผู้ใดใคร่จะพบเราก็จงไป ณ ที่นั้นเถิด

            พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถี ๓๐ โยชน์ ในวันมหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นพุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละ สถานที่เหยียบพระบาท ณ ประตูเมืองสังกัสสะ ชื่อว่า อจลเจติยสถาน

            วันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลก ท้าวสักกเทวราชรับสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตร เนรมิตบันไดแก้วมณีตรงกลาง สำหรับพระบรมศาสดา บันไดทองอยู่ด้านขวาสำหรับเหล่าเทวดา และบันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับเหล่ามหาพรหม เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลง ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกเทวราชทรงรับบาตร ท้าวสุยามเทวราช พัดด้วยวาลวีชนีอันเป็นทิพย์ ปัญจสิขเทพบุตรบรรเลงพิณ มาตลีเทพบุตรถือของหอมและดอกไม้ทิพย์นมัสการอยู่ ห้อมล้อมด้วยหมู่เทวดาและพรหม เสด็จลงที่เมืองสังกัสสะ

            พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เป็นผู้ถวายบังคมรับเสด็จก่อนผู้ใด พระอุบลวรรณาเถรี เข้ามาถวายบังคมต่อจากพระสารีบุตร จากนั้นบรรดามหาชนที่ตามมาคอยเฝ้ารอรับเสด็จ ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ทรงดำริว่าชนเหล่านี้รู้กิตติศัพท์ของพระโมคคัลลานะในฐานะเป็นผู้เลิศทางฤทธิ์ รู้ว่าพระอนุรุทธะเป็นผู้เลิศทางทิพจักขุ รู้ว่าพระปุณณะเป็นผู้เลิศทางธรรมกถึก แต่บริษัทนี้มิได้รู้จักพระสารีบุตรว่าเลิศด้วยคุณอะไร จึงตรัสถามปัญหากับพระเถระ พระสารีบุตรแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ทั้งปัญหาของปุถุชน พระเสขะและพระอเสขะ

            ในครั้งนั้น มหาชนจึงได้รู้จักพระสารีบุตรว่า เป็นผู้เลิศทางปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตรมิได้เป็นผู้มีปัญญาแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในอดีตก็เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา แล้วตรัส ปโรสหัสสชาดก แก่มหาชน




นครสาวัตถี ....

พระเชตวัน มหาวิหาร article



Copyright © 2019 สงวนลิขสิทธิ์ภาพและบทความที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์
ติดต่อ วัดไทยเชตวันมหาวิหาร
Wat Thai Chetavan Mahavihar
Sravasti - Baharaich Road , Vill.Ghughulpur , P.O. Ghughulpur Distt. Balrampur , (U.P.) INDIA. Pin code 271201
โทรศัพท์ : เบอร์เจ้าอาวาส (อินเดีย) +919935030696 , (ไทย) 0680395005
โทรศัพท์ : กองงานเลขาฯวัด (อินเดีย) +91 9554 647437
Email : cetavan939@gmail.com
Line ID: @watthai939